ปรมาจารย์พุทธศาสน์ ยื่นหนังสือกราบทูลสังฆราชปมสึกพระเงินทอน

 ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ส่งหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช ในฐานะสกลมหาสังฆปริณายก และกรรมการมหาเถรสมาคม เพื่อนำเสนอหลักคิดและข้อปฏิบัติต่อกรณีที่พระบางรูปถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมสร้างความเข้าใจที่บิดเบือนในหมู่พระสงฆ์และประชาชนมีใจความว่า


           กราบทูลเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม และกราบนมัสการกรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูป

          เกล้ากระหม่อม ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ขอประทานอนุญาตกราบทูลเสนอหลักคิดและข้อปฏิบัติต่อกรณีพระภิกษุถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม และมีการสร้างความเข้าใจที่บิดเบือนในหมู่พระสงฆ์และประชาชน เรื่องการขาดจากความเป็นพระภิกษุแล้วหรือไม่ 


ซึ่งที่ประชุมมหาเถรสมาคมต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ต่อกรณีที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกล่าวหาพระภิกษุในพระอารามหลวงอย่างน้อย ๓ พระอาราม ประกอบด้วย 

วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร     

วัดสามพระยาวรวิหาร 

และวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

อย่างไม่เป็นธรรมและปราศจากมูลความจริง การที่เกิดกรณีดังกล่าวเช่นนี้ขึ้นจะมีมูลมาจากเหตุใด เกล้ากระหม่อมมิอาจทราบได้  แต่เชื่อว่ากรรมการมหาเถรสมาคมควรจะต้องเป็นผู้ทราบสาเหตุอันแท้จริง และจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเหตุที่เกิดขึ้น ตลอดจนความเสียหายต่อวงการพระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทย  


เพราะเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้มิใช่เป็นครั้งแรก หากแต่มองย้อนกลับไปเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว ก็เคยเกิดกรณีมาแล้วที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เรื่อง พระเดชพระคุณพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อันเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงกระทบความมั่นคงต่อศาสนจักรและราชอาณาจักรไทยในขณะนั้น แต่เมื่อปรากฏจากคำพิพากษาของศาลยุติธรรมแล้ว

         “พระพิมลธรรม” ท่านมิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ต่อมารัฐบาลในขณะนั้นก็ได้มีการประกอบพิธีคืนสมณศักดิ์ให้กับท่าน นั่นเป็นเครื่องแสดงว่า

การกล่าวหาและดำเนินคดี จนถึงขั้นจำคุกพระพิมลธรรมในครั้งนั้น เป็นการจงใจใส่ความจับกุมคุมขังและดำเนินคดีพระพิมลธรรมอย่างโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรมก็มิอาจทำให้ท่านขาดจากความเป็นพระภิกษุได้ 

                                                  อ้างอิง https://talk--secret.blogspot.com/2016/05/blog-post_3.html


กล่าวสำหรับกรณีที่เกิดขึ้นกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในพระอารามหลวงทั้ง ๓ พระอาราม ในปัจจุบันนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน  เพราะแทนที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะทำหน้าที่คอยปกป้องพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม แต่กลับทำหน้าที่ในทางทำลายพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาในทุกรูปแบบ โดยที่รัฐบาลปัจจุบันกลับเพิกเฉยคล้ายกับจะละเว้นความรับผิดชอบ 

หากเป็นจริงดังนี้ เกล้ากระหม่อมก็มีความเห็นว่า มหาเถรสมาคมจำเป็นจะต้องปฏิบัติหน้าที่ปกป้องพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จะเพิกเฉยหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดก็จะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมถอยต่อวงการพระพุทธศาสนา และกระทบไปถึงภาพลักษณ์ของมหาเถรสมาคมอย่างรุนแรง

           พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งในและต่างประเทศขณะนี้ได้เกิดความสับสนจากการที่เจ้าหน้าที่ในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ออกมาให้ความเห็นผ่านสื่อสารมวลชน  รวมทั้งให้ความเห็นต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมไปในทำนองปรักปรำแฝงไปด้วยข้อกล่าวหาซ้ำเติมพระภิกษุ สร้างความสับสนให้เกิดขึ้นจากการเบี่ยงเบนประเด็นทั้งในหลักคิดและหลักปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพระภิกษุ 

                                                             อ้างอิง https://www.thairath.co.th/news/local/1791234

                                                             อ้างอิง https://www.dailynews.co.th/politics/797222

ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างแจ่มชัดโดยเฉพาะมหาเถรสมาคม เกล้ากระหม่อมจึงขอประทานอนุญาตนำเสนอหลักคิดและหลักปฏิบัติที่ถูกต้องต่อกรณีพระภิกษุถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมและการสร้างความเข้าใจที่บิดเบือนในหมู่พระสงฆ์ และประชาชนเรื่องการขาดจากความเป็นพระภิกษุแล้วหรือไม่ ดังข้อมูลที่เกล้ากระหม่อมเคยนำเสนอเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการสละสมณเพศตามหลักกฎหมายไว้ก่อนหน้านี้นานแล้วมีข้อความ ดังนี้

             กรณีที่เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๒๘  กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ส่งผลให้สังคมเข้าใจว่า 

การแถลงข่าวดังกล่าวเป็นมติของมหาเถรสมาคม  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เสมือนได้ประกาศให้สังคมเข้าใจว่า พระสงฆ์ที่ถูกคุมขังได้ขาดจากความเป็นพระภิกษุไปแล้วตามผลของกฎหมายมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง 


การตีความข้อกฎหมายโดยใส่ความคิดเห็นของตนเข้าไปในข้อกฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อาจส่งผลกระทบเกิดความเสียหายต่อคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาอย่างใหญ่หลวง


           การให้พระภิกษุสละสมณเพศตามเจตนารมณ์ของมาตรา ๒๙ นั้น ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย ประกอบกับต้องมีเจตนาเปล่งวาจาลาสิกขาต่อหน้าผู้รู้ความ  ตามแนวของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๗๘๒/๒๕๔๓ ที่ได้มีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานว่า 

"การจะขาดจากความเป็นพระภิกษุตามมาตรา ๒๙ พระภิกษุรูปนั้น ต้องมีการกล่าวคำลาสิกขา"


จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกานี้เป็นการยืนยันได้ว่า 

ถ้าไม่ได้จัดการลาสิกขาตามขั้นตอนพระธรรมวินัย ประกอบกับต้องมีเจตนาเปล่งวาจาลาสิกขา ต้องถือว่าไม่เป็นการสละสมณเพศ ให้ขาดจากความเป็นพระภิกษุ ตามบทบัญญัติในมาตรานี้

            แต่ปรากฏว่า พระภิกษุที่ถูกกล่าวหาวัดสามพระยาวรวิหาร กับวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ไม่ได้เปล่งวาจาลาสิกขา และในวันที่ถูกคุมขังก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการให้มีพระสงฆ์รูปใด จากวัดใด มาดำเนินการให้ลาสิกขา ทั้งไม่ปรากฏพยานเอกสาร และพยานบุคคล และไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า พระภิกษุทุกรูปที่ถูกกล่าวหาได้ลาสิกขาไปแล้ว


             อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า 

“ในการนำสืบคดีต่อศาลมีการสอบพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกปาก ตั้งแต่ตำรวจที่จับกุมก็เบิกความต่อศาลว่า ขณะจับกุมยังเห็นท่านใส่จีวร” 


ตำรวจที่ทำการสอบสวนก็เบิกความต่อศาลว่าขณะที่ก็ "ยังเห็นท่านใส่จีวร" ตำรวจทุกปากยืนยันตรงกันว่าไม่ได้มีการจัดให้ท่านกล่าวคำลาสิกขาทั้งขณะส่งตัวไปศาลก็ปรากฎต่อศาลว่า "ท่านยังใส่จีวร" และก่อนจะนำตัวท่านไปที่เรือนจำเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ "ยังเห็นท่านใส่จีวร" เช่นเดียวกัน

            

ต่อมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้อธิบายกฎระเบียบของกรมราชทัณฑ์ว่าไม่สามารถอนุญาตให้ใส่จีวรเข้าไปในเรือนจำ จึงขอให้เปลี่ยนเป็นชุดขาวตามที่เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมไว้ให้  โดยพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาทุกรูปก็ไม่ได้เปล่งวาจาลาสิกขา


           จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้จัดให้มีการลาสิกขาตามมาตรา ๒๙ ประกอบกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๗๘๒/๒๕๔๓ ที่ได้วางแนวทางปฏิบัติไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว

                                                        อ้างอิง https://www.matichon.co.th/politics/news_2677571

          ในกรณีที่มีการดำเนินการให้ลาสิกขาตามมาตรา ๒๙ แล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของศาล ต้องรายงานการดำเนินการดังกล่าวต่อศาลตามมาตรา ๓๐ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงในกรณีนี้ว่าในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอำตามกฎหมายไม่ได้รายงานเรื่องการลาสิกขาให้ศาลทราบแต่อย่างใดทั้งสิ้น

            ทั้งนี้องค์ประกอบของการลาสิกขาตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการให้ครบองค์ประกอบตามบทบัญญัติของมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ กล่าวคือ 


พระภิกษุ ต้องมีเจตนาลาสิกขา พร้อมทั้งได้ กล่าวคำลาสิกขา ตามบทบัญญัติของมาตรา ๒๙ และเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีอำนาจตามกฎหมายต้องรายงานต่อศาล ตามมาตรา ๓๐ ถ้าปฏิบัติไม่ครบองค์ประกอบทั้ง ๒ มาตรานี้อย่างครบถ้วนต้องถือว่า ไม่ได้ขาดจากความเป็นพระภิกษุ 


ดังนั้นจึงเป็นการยืนยันทั้งในประเด็นข้อเท็จจริง ประเด็นข้อกฎหมายตลอดจนพระธรรมวินัย และแนวทางปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาว่า 

เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีการดำเนินการให้ท่านลาสิกขาตามที่เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เคยแถลงต่อสื่อสารมวลชนอันเป็นเท็จในกรณีของวัดสามพระยาวรวิหาร 

โดยอ้างว่าเป็นมติของมหาเถรสมาคม ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏเป็นเพียงการรายงานความเห็นอันเป็นเท็จให้แก่มหาเถรสมาคมได้รับทราบเท่านั้น หาใช่เป็นมติของมหาเถรสมาคมแต่อย่างใดไม่ 

สำหรับกรณีดังกล่าวนั้น ซึ่งทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงหลักพระธรรมวินัย ว่าด้วยการอุปสมบทและการลาสิกขา(สึก) ต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัยเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันในหมู่ฆราวาสว่า “การสละสมณเพศ” และ “การสึก” ซึ่งปรากฏถ้อยคำสองคำนี้อยู่ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ทำให้เกิดความสับสนตีความหมายไปคนละทิศคนละทาง จึงขออธิบายความให้เข้าใจตรงกันว่า


           สมณเพศ หมายถึง ผ้าไตรจีวรเครื่องนุ่งห่มที่แสดงออกถึงความเป็นพระภิกษุ เพราะฉะนั้นการบังคับให้สละสมณเพศ จึงหมายถึงการถูกบังคับให้สละผ้าไตรจีวรเครื่องนุ่งห่มออกจากร่างกายของพระภิกษุรูปนั้นๆ แต่ความเป็นพระภิกษุยังคงอยู่เหมือนเดิม เพราะมิได้มีการเปล่งวาจาลาสิกขาด้วยความสมัครใจ


          ส่วนการสึกคือการลาสิกขา หมายถึงการที่พระภิกษุรูปนั้นๆ อธิษฐานใจ และเปล่งวาจาลาสิกขาด้วยความสมัครใจ จึงสละเครื่องแต่งกาย คือผ้าไตรจีวรออกทั้งในการสึกตามพระวินัย และการถูกบังคับให้สึกตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้


          มีข้อสังเกตจากบทบัญญัติในมาตรา ๒๘ ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ที่ระบุว่า พระภิกษุรูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ เป็นบุคคลล้มละลายต้องสึกภายใน ๓ วัน นับแต่วันคดีถึงที่สุด ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่าบทบัญญัติในมาตรานี้ได้เน้นย้ำคำว่า สึก คือ การลาสิกขา ไม่ได้ใช้คำว่า สละสมณเพศ 

นั่นย่อมเป็นเครื่องแสดงว่าความหมายของคำ ๒ คำนี้ เป็นคนละความหมายกัน เพราะในหลักกฎหมายทั่วไป หากต้องการจะให้มีความหมายเดียวกันก็ต้องระบุศัพท์เป็นคำเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่ไม่มีความสุจริตมาตีความกฎหมายเอาเองไปตามอำเภอใจ


           ส่วนการถูกคุมขังและการใส่ชุดขาวนั้น ไม่ใช่ประเด็นที่จะนำมากล่าวอ้างว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านขาดจากความเป็นพระไปแล้ว เพราะสาระสำคัญของความเป็นพระภิกษุจะสมบูรณ์หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่การถูกคุมขังแต่อยู่ที่ข้อวัตรปฏิบัติของความเป็นพระภิกษุตามพระธรรมวินัย


           อนึ่ง ที่ต้องใส่ชุดขาวก็มีเหตุจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของเรือนจำ ไม่ได้ทำให้ความเป็นพระภิกษุหมดไป เช่น เวลาพระสงฆ์อาพาธต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ต้องถอดจีวรเพื่อใส่ชุดตามระเบียบของโรงพยาบาล เมื่อหายอาพาธแล้วก็กลับมาใส่จีวรเหมือนเดิม หรือเมื่อมีโจรขโมยจีวรไปก็สามารถใส่ชุดอื่นไปพลางก่อนได้

นอกจากนั้นพุทธศาสนิกชนชาวไทยย่อมทราบดีว่า การลาสิกขา หรือ สึก ของพระสงฆ์ไทยจะต้องกล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าพระภิกษุด้วยกันเท่านั้น จะไม่กล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าฆราวาส 

ซึ่งผู้ที่เคยผ่านการบวชเรียนเขียนอ่านมา ก็ย่อมรู้ว่าไม่ได้กล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าฆราวาส แต่จะกล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์หรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังได้เคยอ้างถึงมาตรา ๒๘ ว่า 

“พระภิกษุรูปใด ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายใน ๓ วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด” 

นั้นเป็นกรณีของพระภิกษุกับคดีล้มละลาย หรือพระภิกษุถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายกล่าวคือพระภิกษุที่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่สามารถใช้เงินคืนได้จึงถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องที่วัดสามพระยาวรวิหาร และวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหารถูกกล่าวหา 

จึงไม่ควรนำมากล่าวอ้างโดยมุ่งประสงค์จะเป็นการชี้นำให้สังคมเกิดความสับสน!


            สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตามกฎหมายที่จัดตั้งองค์กรนี้ขึ้นต้อง มีหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามิใช่ปล่อยให้ถูกครอบงำจากบุคคลภายนอก ที่อาจมีอคติกับพระภิกษุสงฆ์บางรูปในบางพระอารามหลวงอย่างมีเลศนัย ซึ่งก็ได้ปรากฎเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบัน 


ดังนั้นหน่วยงานนี้ จึงควรทบทวนบทบาทและหน้าที่ให้ชัดเจนว่า จะต้องให้เกียรติกับมหาเถรสมาคมที่เป็นองค์กรสงฆ์สูงสุด 

เพราะที่ผ่านมาในยุคนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้กระทำการบางอย่างที่ส่อไปในทางที่ไม่ให้เกียรติกับมหาเถรสมาคม ทำราวกับว่ามหาเถรสมาคมเป็นเพียงองค์กรทางผ่านเพื่อแจ้งให้ทราบเท่านั้น


            จึงขอประทานกราบทูลมาเพื่อโปรดกรุณาทราบ และโปรดพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า มหาเถรสมาคม จะต้องแสดงความรับผิดชอบเป็นประการใดโดยไม่มีการละเว้น หรือเลือกปฏิบัติ อันจะเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลใดๆ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญดำเนินการกับกรรมการมหาเถรสมาคมประการหนึ่งประการใด 

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่งดงามอย่างยิ่งและจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวงการพระพุทธศาสนาที่ไม่มีใครต้องการจะให้เป็นเช่นนั้น ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต  ๑๙ เมษายน ๒๕๖๔

วันพุธที่ 21 เม.ย. 2564 มีข้อมูลคืบหน้าหลังการส่งหนังสือกราบทูลฯ สมเด็จพระสังฆราชฯ ของศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ 

                                          อ้างอิง https://www.dailynews.co.th/education/838316


                                                                   อ้างอิง http://thebuddh.com/?p=51621







ปรมาจารย์พุทธศาสน์ ยื่นหนังสือกราบทูลสังฆราชปมสึกพระเงินทอน ปรมาจารย์พุทธศาสน์ ยื่นหนังสือกราบทูลสังฆราชปมสึกพระเงินทอน Reviewed by สารธรรม on 08:16 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.