แง้มสำนวน ประเคนเงินทอน 2 วัดหลวง


การกล่าวหาร้องทุกข์คดีเงินทอนวัด ล็อต 3 ที่โหมแรงเขย่าศรัทธาชาวพุทธให้สะเทือนอยู่ในขณะนี้เนื่องจากมีรายชื่อของพระชั้นผู้ใหญ่ระดับกรรมการ มส.ร่วมด้วย 3 รูป แต่ก็มีชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเกิดความสงสัยว่าเหตุการณ์นี้อาจจะมีประเด็นแอบแฝง จนหลายฝ่ายเริ่มเป็นห่วงว่าจะเกิดศึกสงฆ์ภาค 2 หรือไม่

มาวิเคราะห์เจาะลึกกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ขณะนี้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย คุณกรณ์ มีดี 

การร้องทุกข์กล่าวโทษของ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหณ์เสน่ห์ ผอ.พศ. แบ่งการวิเคราะห์ได้ 4 ประเด็นคือ

1.ข้อกฎหมาย
2.พระธรรมวินัย
3.เรื่องความเหมาะสมเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของ ผอ.พศ.
4.ข้อเท็จจริง

ประเด็น 1 ข้อกฎหมาย

แนวทางปฏิบัติที่กระทำสืบกันมาคือ พระสงฆ์ทั้งประเทศส่วนมากถูกปลูกฝังว่าไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง รวมถึงข้อกฎหมายก็มองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง พระสงฆ์เกือบทั้งประเทศจึงไม่ค่อยรู้เรื่องกฎหมาย เจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ ให้ทำอะไรท่านก็จะยึดตามนั้น

แต่ ณ วันนี้กฎหมายเริ่มเข้ามามีบทบาทกับพระสงฆ์มากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณ มีการกล่าวหาพระสงฆ์ว่าท่านทุจริต  แล้วไปยื่นฟ้องกับ ปปป. เพื่อส่งไม้ต่อให้  ป.ป.ช. แต่ในข้อเท็จจริงก็ต้องมาดูกัน

ทุจริต คือ การเอาเงินไปใช้ส่วนตัว

แต่เงินที่เป็นเงินงบประมาณก้อนนี้ท่านไม่ได้เอาใช้ส่วนตัว แต่เอาไปใช้ในกิจการของพระพุทธศาสนาทุกบาททุกสตางค์  เพียงแต่ว่าเงินที่เอาไปใช้มันไม่ตรงกับงบประมาณ

ยกตัวอย่าง วัดสัมพันธวงศ์ฯ เอางบประมาณของปริยัติธรรม ไปสร้างกุฏิคือเป็นการโยกงบ ถ้าหากว่ากันตามข้อกฎหมายมันผิดอยู่แล้ว

เพียงแต่ว่าใครเป็นผู้ผิด.? 

ในเมื่อคนชงเรื่องตั้งแต่แรก คนเอาเงินมาให้ และคนสรุปรายงานสุดท้ายก็คือ เจ้าหน้าที่สำนักพุทธ

แต่ในการฟ้องครั้งนี้กลับไม่มีเจ้าหน้าที่สำนักพุทธเลย มีแต่ 5 พระเถระ แล้ว 3 ใน 5 นั้นก็เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

ประเด็น 2 พระธรรมวินัย

คุณพงศ์พร เขียนไว้ในท้ายคำฟ้องบอกว่า...

พระเถระทั้ง 5 รูปนี้ต้องอาบัติปาราชิก ไม่สมควรดำรงอยู่ในสมณศักดิ์ และไม่สมควรเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

นี้คือการที่ฆราวาสไปตัดสินพระว่า ต้องอาบัติปาราชิก การที่คุณพงศ์พรฟังธงว่าท่านต้องอาบัติปาราชิก บ่งบอกว่า ผอ.สำนักพุทธคนนี้ไม่ได้ศึกษาให้ลึกซึ้งว่าอาบัติปาราชิกนั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

ผู้ที่จะตัดสินว่าใครต้องอาบัติปาราชิกได้นั้นต้องเกิดจากสงฆ์ไม่ใช่ฆราวาส

การต้องอาบัติปาราชิก มี 4 ข้อ 

กรณีนี้เป็น “ปาราชิกการลักทรัพย์” ซึ่งเป็นหัวข้อลำดับที่ 2 พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่าจะต้องมีองค์ประกอบครบ 5 ข้อ ถ้าไม่ครบองค์ประกอบไม่เป็นอาบัติปาราชิก แต่อาจจะเป็นอาบัติอื่นที่เบาลงไป

องค์ประกอบที่ 1 เจ้าของหวงทรัพย์นั้น
องค์ประกอบที่ 2 พระองค์นั้นทราบว่าเจ้าของหวง

องค์ประกอบที่ 3 ทรัพย์นั้นมีมูลค่า 5 มาสก ก็คือน้ำหนักของข้าวเปลือก 20 เมล็ด เอามาเทียบกับทองคำ ข้าวเปลือก 20 เมล็ด มีน้ำหนักเท่าไร ก็เอาทองคำน้ำหนักเท่านั้น มาตีเป็นมูลค่าเงินเท่ากับ 5 มาสก

องค์ประกอบที่ 4  มีจิตคิดจะขโมย เจตนาขโมย ซึ่งข้อนี้สำคัญที่สุด
องค์ประกอบที่ 5 ทำให้ทรัพย์นั้นเคลื่อน


ฉะนั้นการที่คุณพงศ์พร บอกว่าท่านต้องอาบัติปาราชิกมันผิด

1.ฆราวาสไปกล่าวหาพระสงฆ์ไม่ได้ ต้องเป็นคณะสงฆ์เองที่ตัดสิน
2.การที่พระจะต้องอาบัติหรือไม่ องค์ประกอบเรื่องเจตนาเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

ถ้าหากย้อนกลับไปดูว่าเงินทั้งหลายเหล่านั้นท่านเอาไปใช้อะไร ท่านเอามาใช้ในด้านพระพุทธศาสนาทั้งหมดไม่มีเจตนาขโมยเลยบ่งบอกว่า

ท่านไม่ได้ต้องอาบัติปาราชิก.!

การแถลงข่าวของ พ.ต.ท.พงศ์พร เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ยังไม่ตรงกับสิ่งที่ มส.มีมติให้ ออกมาแถลงข่าวทั้งหมดโดยให้ชี้แจงข้อเท็จจริงในการดำเนินการกรณีเงินทอนวัดกับพระเถระทั้ง 5 รูป โดยเฉพาะที่มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวกับกรรมการ มส.ถึง 3 รูป  

ที่สำคัญ คือ กรณีที่มีการรุบุโทษทางพระธรรมวินัย ปรับอาบัติปาราชิกกรรมการ มส. 3 รูป อยู่ในข้อความที่ไปดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษที่ บก.ปปป.ว่า การปรับอาบัติพระสงฆ์เป็นขั้นตอนทางพระธรรมวินัย เป็นเรื่องของสงฆ์ และไม่ใช่หน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) 

แต่เมื่อออกมาแถลงข่าว พ.ต.ท.พงศ์พระกับแถลงเพียงเรื่องเดียวคือ การชี้แจงข้อเท็จจริงในการดำเนินการกรณีเงินทอนวัด กับพระเถระทั้ง 5 รูปเท่านั้น

ที่มา: https://www.thairath.co.th/content/1261647


ประเด็นที่ 3 ความเหมาะสม

คุณพงศ์พร ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม หน้าที่หลักคือคือรับใช้คณะสงฆ์

ถามว่าการที่วันหนึ่งลูกน้องออกมาฟ้องเจ้านาย 

หรือถ้าเทียบกันบอกว่า เลขาธิการ ครม. ลุกขึ้นมาฟ้อง นายกรัฐมนตรี อย่างนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ในเมื่อคุณทำหน้าที่รายงานข้อมูลให้มหาเถรสมาคม แต่ถึงเวลาไปยื่นฟ้อง ปปช. เลย ไม่บอกไม่กล่าว

ประเด็นที่ 4 ข้อเท็จจริง

เท่าที่ไปสอบถามมาในการเอางบมาให้แล้วพระเดชพระคุณเอางบไปใช้อีกอันหนึ่งหรือไม่ ปรากฏว่า

เป็นธรรมเนียมคณะสงฆ์ ที่ปฏิบัติสืบกันมานานตั้งแต่สมัยสำนักพุทธยังเป็นกรมการศาสนา นั่นคือเวลาพระผู้ใหญ่ท่านประสงค์จะทำเรื่องอะไรในวัด  

เช่นกรณีของวัดสัมพันธวงศ์

ท่านก็บอกตามตรงว่าอยากจะสร้างกุฏิตรงนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักพุทธรับทราบแล้วก็รับจัดสรรงบมาให้ จากนั้นก็เอาเอกสารมาให้ท่านเซ็น เชื่อว่าท่านคงไม่ได้อ่าน

เมื่อแล้วก็เซ็นแล้วเงินก็วิ่งมาเข้าบัญชีของวัดแล้วก็มีการใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไป แต่ท่านไม่อาจทราบได้ว่าเจ้าหน้าที่สำนักพุทธนั้นไปโยกงบก้อนไหนมาให้ท่าน

ถ้าถามว่าตั้งเบิกงบมาได้อย่างไรในเมื่อไม่มีโรงเรียนปริยัติสามัญ.? 

เจ้าหน้าที่สำนักพุทธต้องรู้ตั้งแต่ทีแรกว่าที่นั่นไม่มีโรงเรียนปริยัติสามัญ กลับอนุมัติงบให้ไป 

ประเด็นของวัดสระเกศ  

เขาฟ้องมาว่าเอาไปใช้ในงานของพระธรรมทูต แต่ในเงินก้อนนั้นเป็นเรื่องที่ มส. มีมติให้ท่านจัดงานวันวิสาขบูชาที่ท้องสนามหลวง

ปรากฏว่าสำนักพุทธฯ ยังไม่มีเงินงบประมาณมาให้ แต่ขอให้ท่านสำรองจ่ายไปก่อนแล้วจะเบิกมาให้แน่นอน จนกระทั่งผ่านไปเป็นปีเงินก้อนนี้จึงคืนกลับมาเข้าบัญชีวัด ท่านไม่ทราบหรอกว่าเงินงบประมาณก้อนนี้มันมาจากไหน

ที่สำคัญงบก้อนนี้เป็นงบปี 2556 แต่ ท่านเจ้าคุณพรหมสิทธิ พึ่งเป็นเจ้าอาวาสปี 2558 ห่างกัน 2 ปี ท่านไม่ได้มีลายเซ็น ทั้งเขียนงบ เซ็นรับเงิน 

แต่กลับเอาท่านไปอยู่ร่วมในการถูกฟ้องว่าทุจริต และขณะที่เกิดเหตุท่านเจ้าคุณพรหมสิทธิยังไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสแต่ไปฟ้องท่าน

คุณฟ้องผิดบุคคลหรือเปล่า ?


ขอบคุณข้อมูลจาก
รายการ Thai Voice 20 เม.ย. 2561
คุณจอม เพชรประดับ
คุณกรณ์ มีดี
แง้มสำนวน ประเคนเงินทอน 2 วัดหลวง แง้มสำนวน ประเคนเงินทอน 2 วัดหลวง Reviewed by สารธรรม on 09:22 Rating: 5

1 ความคิดเห็น:

  1. คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธแต่มาทำหน้าที่เป็น จนท.คอยรับใช้ มส. คงไม่มีความรู้ในเรื่องพระธรรมวินัยอย่างละเอียดจึงเกิดเรื่องควรเปลี่ยนให้คนที่เป็นชาวพุทธมีศีล5เป็นปกติมาทำหน้าคงดีกว่าค่ะ

    ตอบลบ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.