เอหิปัสสิโก สารคดีเรื่องธรรมกายเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม
อ้างอิง https://www.matichonweekly.com/column/article_416773
เอหิปัสสิโก สารคดีเรื่องธรรมกายเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม
คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ที่ได้ชื่อว่าใช้อำนาจบาตรใหญ่และวางก้ามเหนือกว่านายกฯ ในอดีตทุกคน เจ็ดปีที่คุณประยุทธ์ตั้งตัวเองเป็นนายกฯ คือเจ็ดปีที่คนไทยเห็นทหารเฒ่าส่ายอาดๆ เข้าทำเนียบด้วยท่วงท่าที่ไม่เหมือนคนเป็นผู้นำประเทศไม่ต้องพูดถึงการใช้อำนาจที่คุกคามประชาชนจริงๆ ตลอดมา
คุณประยุทธ์ไม่เคยปกปิดคำพูดที่สะท้อนทัศนคติมองคนเห็นต่างเป็นศัตรู
เจ็ดปีที่คุณประยุทธ์ยึดประเทศจึงเป็นเจ็ดปีที่คนเห็นต่างถูกคุณประยุทธ์ข่มเหงด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าวิธีที่ถูกมองว่านอกกฎหมายหรือใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อให้คุณประยุทธ์ดำเนินการได้โดยไม่มีความผิดอะไร
คำสั่งคุณประยุทธ์ตาม ม.44 ให้เจ้าหน้าที่รัฐยึดทรัพย์อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปขายคือหลักฐานของการใช้กฎหมายรังแกประชาชน เพราะในที่สุดศาลปกครองตัดสินว่าคุณประยุทธ์ออกคำสั่งยึดทรัพย์คุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้ แต่รัฐบาลประยุทธ์ก็ยึดทรัพย์คุณยิ่งลักษณ์ไปขายโดยไม่ต้องรับผิดอะไรเลย
พูดก็พูดเถอะ ในสมัยที่คุณประยุทธ์รัฐประหารปี 2557 แล้วเขียนรัฐธรรมนูญให้ตัวเองมีอำนาจใหญ่คับฟ้าเหนือทุกคนในแผ่นดินตาม ม.44 ความลุแก่อำนาจทำให้นายพลก๊วน คสช.คนหนึ่งข่มขู่ผู้บริหารทีวีช่องหนึ่งถึงขั้นพูดตรงๆ ว่า “ตอนนี้ผมเผาช่องคุณได้โดยไม่มีความผิด” ด้วยซ้ำไป
ธรรมกายเป็นวัดและเป็นคำสอนทางพุทธศาสนาที่มีผู้นับถือมหาศาลในสังคมไทย ผมไม่มีความรู้จริงๆ ว่าวัดพระธรรมกายมีลูกศิษย์ในเวลานี้เท่าไร แต่ทุกคนในประเทศรู้ว่าธรรมกายเป็นวัดใหญ่ที่มีลูกศิษย์มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศโดยเฉพาะในยุคที่ธรรมกายรุ่งเรืองถึงขีดสุดก่อนปัจจุบัน
สามสิบปีก่อนหมอประเวศ วสี เคยเสนอว่าต้องมองธรรมกายเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามซึ่งศาสนาพุทธจะตอบคำถามต่างๆ ในสังคมร่วมสมัย ธรรมกายแพร่หลายด้วยเงื่อนไขเดียวกับการแพร่หลายของสวนโมกข์และสันติอโศกนั่นคือการขบคิดว่าคนพุทธจะอยู่อย่างไรในโลกทุนนิยมที่เห็นแก่ตัว
นักวิชาการบางคนอธิบายว่าสันติอโศก, ธรรมกาย และสวนโมกข์ มีจุดเน้นต่างกันสามแบบ
แบบหนึ่งเน้นศีล
แบบที่สองเน้นสมาธิ
ส่วนแบบที่สามเน้นปัญญา
แต่ที่จริงคำอธิบายนี้ไม่เป็นธรรมกับสันติอโศกและธรรมกาย เพราะการปฏิบัติธรรมซึ่งเน้นศีลหรือสมาธิไม่ได้แปลว่าปราศจากปัญญาความยิ่งใหญ่ของธรรมกายสะท้อนให้เห็นจากความยิ่งใหญ่ด้านถาวรวัตถุที่สื่อบางค่ายเรียกว่า “อาณาจักรธรรมกาย”
และความยิ่งใหญ่ด้านนี้ก็สะท้อนความศรัทธาที่ญาติโยมมีต่อวัด, ต่อคำสอน, ต่อพระอาจารย์, ต่อแนวทางปฏิบัติ ฯลฯ ซึ่งมีท่วมท้นจนเกิดวัดพระธรรมกายขึ้นมา
แม้เวลานี้วัดพระธรรมกายจะยังอยู่เหมือนที่เป็นมาตลอดหลายสิบปี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพความยิ่งใหญ่ของธรรมกายหายไปจากสังคมอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเพราะวัดลดกิจกรรมที่แสดงความใหญ่ลงไปวัดไม่ได้แสดงกิจกรรมลักษณะนี้สู่สังคมอย่างในอดีต หรือสังคมจับผิดวัดน้อยลงก็ตาม
รัฐประหาร 2557 เป็นจุดตั้งต้นของการทำลายวัดพระธรรมกาย และการใช้อำนาจตาม ม.44 ของคุณประยุทธ์คือหลักฐานว่าวัดถูกเผด็จการที่ชัดเจนที่สุด เพราะคุณประยุทธ์ใช้คำสั่งนี้ส่งตำรวจบุกวัด, ทหารปิดล้อมวัด, ตัดข้าวตัดน้ำคนในวัด, ปิดช่องโทรทัศน์ของวัด และทำจนลูกศิษย์วัดตายหนึ่งคน
นอกจากการใช้อำนาจรัฐทำลายวัดตรงๆ เครือข่ายคุณประยุทธ์ยังทำทุกทางเพื่อกำจัดคนที่ถูกมองว่าเป็น “พวกธรรมกาย” อย่างต่อเนื่อง
“สมเด็จช่วง” ที่มหาเถรสมาคมมีมติเสนอเป็นสมเด็จพระสังฆราชถูกปล่อยข่าวเรื่อง “รถหรู” เช่นเดียวกับการยัดข้อหาเพื่อจับสึกพระผู้ใหญ่หลายรูปไป
คุณไพบูลย์ นิติตะวัน ยุคนั้นพูดทุกวันว่าการทำลายธรรมกายคือการปฏิรูปพุทธศาสนา แต่หลังจากรัฐบาลทำขั้นส่งทหารบุกวัดในปี 2559 พุทธศาสนาไม่มีอะไรปฏิรูปเช่นเดียวกับการปฏิรูปเรื่องอื่นๆ ที่อ้างตอนยึดอำนาจ
ส่วนคุณไพบูลย์ก็ตั้งพรรคแล้วยุบพรรคไปขวางการแก้รัฐธรรมนูญจนปัจจุบัน ห้าปีของการส่งทหารล้อมวัดพระธรรมกายผ่านไปโดยไม่มีใครพูดเรื่องปฏิรูปพุทธศาสนาต่อไปอีก คุณประยุทธ์ที่เคยพูดว่าแก้ปัญหาธรรมกายจะนำไปสู่การปฏิรูปศาสนาเลิกพูดเรื่องพุทธศาสนาไปเฉยๆ
พระผู้ใหญ่ที่รัฐบาลจับสึกกลับถูกศาลพิพากษาว่าท่านไม่ผิด แต่รัฐบาลก็ไม่รับผิดชอบอะไร
ณฐพล บุญประกอบ เป็นคนทำหนังฝีมือดีซึ่งถือว่าเป็นแถวหน้าของคนทำหนังรุ่นเดียวกัน แม้ชื่อของณฐพลจะยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้ชมทั่วไป แต่ความยอมรับที่คนในแวดวงศิลปะร่วมสมัยมีต่อณฐพลนั้นมากจนเหลือเชื่อ
ไม่ใช่แค่ในแง่ทักษะในการทำหนัง แต่ยังรวมถึงความสนใจทางสังคม
ณฐพลสมัยเป็นนักศึกษาหนังต่างประเทศ เคยทำหนังสั้นเรื่องการอยู่ร่วมกับคนพิการ วิธีที่เขาเล่าเรื่องแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจ ขณะเดียวกันก็แสดงความต้องการทำให้หนังไม่เป็นแค่เครื่องมือในการรณรงค์อะไรบางอย่าง และผลงานที่ได้นั้นก็ตอบโจทย์ทั้งหมดได้อย่างดี
หนังณฐพลล่าสุดชื่อ “เอหิปัสสิโก” หรือภาษาอังกฤษคือ Come and See มีชื่อเสียงหอมกรุ่นในคนรักหนังและคนสนใจปัญหาสังคมมานานทุกคนรู้ว่าหนังพูดถึงธรรมกาย แต่ไม่มีใครรู้ว่าหนังจะเล่าเรื่องวัดอย่างไรและการที่หนังแอบฉายอย่างจำกัดมาหนึ่งปีทำให้ทุกอย่างเป็นปริศนาเหลือเกิน
กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด หนังเล่าเรื่องวัดพระธรรมกายทั้งในมุมคนที่เชื่อและไม่เชื่อเรื่องธรรมกาย ไทม์ไลน์ของหนังครอบคลุมถึงตอนที่รัฐบาลยัดข้อหา “หลวงพ่อธัมมชโย” เจ้าอาวาสตอนนั้นยักยอกทรัพย์, การส่งทหารบุกวัดและเหตุการณ์ลูกศิษย์วัดตายในที่สุด
แน่นอนว่าการทำหนังโดยให้พื้นที่กับทุกฝ่ายที่เห็นต่างกันนั้นเป็นเรื่องยาก และถ้าถือว่าหนังคือสื่อ ภารกิจนี้แม้กระทั่งคนทำสื่อไม่น้อยก็ทำไม่สำเร็จแต่ “เอหิปัสสิโก” ทำภารกิจข้อนี้ได้ และสิ่งที่ทำได้มากกว่านั้นคือการแสดงมุมมองของคนทำหนังต่อเรื่องนี้ออกมาอย่างแยบคาย แต่ไม่คุกคาม
ด้วยการเปิดโอกาสให้ฝ่ายศิษย์วัดพระธรรมกายได้พูดเท่าอดีตศิษย์วัดที่ปัจจุบันต่อต้านวัด หนังเรื่องนี้ทำให้ผู้ชมได้ฟังความรอบด้านในแง่มุมที่ทั้งสองฝ่ายพูดออกมาได้เต็มที่ที่สุด ศิษย์ธรรมกายได้พูดในเรื่องที่อยากพูด เช่นเดียวกับอดีตศิษย์ที่กลายเป็นฝ่ายต่อต้านวัดที่พูดไม่ยั้งว่าต้านเพราะอะไร
“เอหิปัสสิโก” คือหนังที่ทุกฝ่ายที่เห็นต่างเรื่องวัดพระธรรมกายได้แสดงมุมมองที่ “ตรงไปตรงมา” ขั้น “สุดขั้ว” ออกมา
สารที่ผู้ชมซึ่งไม่ใช่ทั้งศิษย์วัดหรือต่อต้านวัดจะได้ก็คือแต่ละฝ่ายมีที่มาที่ไปของความเชื่อและวิถีปฏิบัติ และในที่สุดความเชื่อเป็นเรื่องของการเลือกซึ่งไม่ควรมีใครบังคับใคร
มองในแง่นี้ หนังเรื่องนี้คุยกับสังคมถึงหลักการเรื่องการอยู่ร่วมกันของศิษย์วัดพระธรรมกายกับผู้ต่อต้านวัดพระธรรมกาย แต่ในที่สุดหนังก็เล่าต่อไปว่าการอยู่ร่วมกันนี้คืออุดมคติที่ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะในที่สุดรัฐต้านวัดพระธรรมกายจนใช้ความอำมหิตทุกอย่างในการกำจัดวัดพระธรรมกายลงไป หนึ่งในข้อกล่าวหาของฝ่ายต่อต้านธรรมกายคือธรรมกายเป็นพุทธพาณิชย์ขั้นมีการยักยอกเงิน
ฉากที่น่าสะเทือนใจที่สุดของหนังคือลูกศิษย์วัดรวมตัวกันนั่งสมาธิปกป้องวัด หรือพูดตรงๆ คือปฏิบัติการสันติวิธีที่พระและผู้หญิงวัย 50-60 เอาตัวเองเป็นโล่กำบังไม่ให้ตำรวจ-ทหารบุกวัดเข้ามาการปกป้องวัดธรรมกายเป็นการต่อสู้แบบสันติวิธีครั้งสำคัญในสังคมไทย
แต่ความเป็นธรรมกายทำให้คนพูดถึงเรื่องนี้น้อยมากไม่ต้องพูดถึงคำถามที่เรียบง่ายแต่ตรงไปตรงมาของลูกศิษย์วัดว่า วัดสร้างด้วยเงินของญาติโยมทุกคนไม่ได้ขอเงินรัฐบาล แล้วรัฐบาลจะส่งทหารมายึดวัดได้อย่างไร
คุณประยุทธ์ไม่เคยตอบคำถามนี้ในเวลาที่ปลุกปั่นให้มีการใช้ ม.44 บุกวัดขั้นขู่ยึดทรัพย์วัด และจนถึงบัดนี้ก็ไม่เคยมีคำอธิบายเรื่องนี้จากคุณประยุทธ์เช่นเดียวกับการยึดทรัพย์คุณยิ่งลักษณ์ไปขายทั้งที่ศาลตัดสินภายหลังว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่มีกฎหมายรับรองเลย
ธรรมกายถูกโจมตีจากฝ่ายต้านวัดว่าเป็น “พุทธพาณิชย์” แต่คำถามแรกคือ แล้วศาสนสถานอื่นไม่มีการรับบริจาคเงินจากผู้มีศรัทธาเลยหรืออย่างไร
ส่วนคำถามที่สองคือ แล้วอะไรคือเส้นแบ่งที่ทำให้ธรรมกายโดนโจมตีเป็น “พุทธพาณิชย์” แต่การเช่าพระหรือวัตถุมงคลไม่โดนโจมตีลักษณะเดียวกัน
ถ้าจะมีสารอะไรที่ผู้ชมได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ สารนั้นคือปฏิบัติการล้มวัดพระธรรมกายไม่ได้เกิดจากหลักศาสนาหรือความต้องการปฏิรูปศาสนาธรรมกายถูกจัดการด้วย ม.44 เพราะผู้มีอำนาจระแวงธรรมกาย
ส่วนใครระแวง และระแวงเพราะอะไร ถือว่าเป็นเรื่องที่ผู้ชมต้องพิจารณาเอง ในแง่สุนทรียศาสตร์ของหนัง ถาวรวัตถุทุกอย่างของธรรมกายแสดงความยิ่งใหญ่ของธรรมกาย และความยิ่งใหญ่ของธรรมกายอาจเป็นเหตุให้ธรรมกายถูกมองว่าเป็นบารมีใหม่จนต้องถูกทำลายลงเหมือนกระบวนการที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มต่างๆ หลังปี 2557 จนปัจจุบัน
ไม่ว่าจะมองในแง่มุมไหน “เอหิปัสสิโก” หรือ come and see คือหนังที่คนไทยควรดูเพื่อเรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกัน
รวมทั้งเรียนรู้ว่ารัฐไทยไม่เคยรีรอในการทำลายคนที่รัฐมองว่าเป็นภัยคุกคามกับรัฐ ต่อให้จะเป็นวัดหรือคำสอนทางศาสนาก็ตาม
ขอบคุณข้อมูลต้นฉบับ
มติชนสุดสัปดาห์ โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ.2564
ไม่มีความคิดเห็น: