สืบตำนานวันสงกรานต์


นางสงกรานต์แต่ละวันจะมีนาม มีอาหาร อาวุธ มีอิริยาบถ และสัตว์ที่เป็นพาหนะต่างกัน เชื่อกันว่าหากอิริยาบถของนางสงกรานต์ยืนมา จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้ แต่อย่างไรก็ตามการพยากรณ์ถือเป็นการเตือนล่วงหน้าเพื่อไม่ให้เกิดความประมาท


เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์

"สงกรานต์" แปลว่า ก้าวขี้น ย่างขึ้น คือพระอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีใหม่หมายถึงวันขึ้นปีใหม่มีอยู่ 3 วันในเดือนเมษายนของทุกปีคือวันที่ 13,14 และ 15 (เมื่อพ.ศ. 2444 เป็นต้นมาได้กำหนดให้ตรงกันทุกปีตามปฏิทินเกรกอรี่)

วันที่ 13 เมษายน “วันมหาสงกรานต์” ในปี 2525 รัฐบาลได้ประกาศให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ”

วันที่ 14 เมษายน “วันเนา” ในปี 2532 รัฐบาลได้ประกาศให้เป็น “วันครอบครัว”

วันที่ 15 เมษายน “วันเถลิงศก” คือวันเริ่มศักราชใหม่

กิจกรรมส่วนใหญ่ที่ทำในเทศกาลนี้ก็มี การทำความสะอาดบ้านเรือน ทำบุญทำทานอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ สรงน้ำพระ การก่อเจดีย์ทราย รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ สรงน้ำอัฐิบรรพบุรุษ และเล่นสาดน้ำกัน 

นอกจากความสนุกสนานในการละเล่นอันเป็นอัตลักษณ์ตามประเพณีแล้ว เราจะพบเอกลักษณ์ที่หยั่งรากอยู่ในเทศกาลสงกรานต์นั่นคือการระลึกถึงพระคุณความดีที่เรียกว่า "ความกตัญญู"  

การได้กลับมาพร้อมหน้ากันในเทศกาลสงกรานต์จึงเป็นพันธะทางใจอันอบอุ่นและเหนียวแน่นของหน่วยเล็กๆ ในสังคมไทยที่สืบสายจนกลายเป็น "วัฒนธรรม"


สืบตำนาน

วันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึง พ.ศ. 2483 ต่อมาทางราชการจึงได้เปลี่ยนใหม่โดยกำหนดเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับหลักสากลนิยมที่นานาประเทศปฏิบัติ นอกจากประเทศไทยแล้วยังมี มอญ พม่า ลาว และชนชาติไทยเชื้อสายต่างๆ ในจีน อินเดีย ก็ถือว่าสงกรานต์เป็นเทศกาลฉลองวันขึ้นปีใหม่ของเขาด้วยเช่นกัน

ตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับวันสงกรานต์ และนางสงกรานต์ที่เรารู้จักกันดีเป็นตำนานที่รัชกาลที่ 3 โปรดให้จารึกไว้ในแผ่นศิลา 7 แผ่น ติดไว้ที่ศาลารอบพระมณฑปทิศเหนือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ หรือวัดโพธิ์

7 นางในตำนาน

ตามตำนานที่จารึกไว้กล่าวถึง นางสงกรานต์ ไว้ว่าเป็นนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีด้วยกัน ๗ องค์เป็นพี่น้องกัน และต่างก็เป็นบาทบริจาริกา แปลว่า นางบำเรอแทบเท้า หรือเรียกง่ายๆว่า เป็นเมียน้อยของพระอินทร์จอมเทวราช และเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหมผู้ซึ่งพ่ายแพ้ต่อธรรมบาลกุมารในการไขปริศนาธรรมจนถูกตัดศีรษะไปประดิษฐานไว้ ณ มณฑปถ้ำคัณธุลี เขาไกรลาส

เมื่อวันวันมหาสงกรานต์เวียนมาครบรอบ 1 ปี เทพธิดาทั้ง 7 องค์ ก็จะผลัดกันอัญเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ ซึ่งเทพธิดาที่ปรากฏในวันมหาสงกรานต์จึงได้ชื่อว่า “นางสงการานต์”

นางสงกรานต์ มีชื่อประจำวันดังนี้

วันอาทิตย์ ชื่อนาง ทุงษะ มีพาหนะทรงเป็น ครุฑ

วันจันทร์ ชื่อนาง โคราคะ  มีพาหนะทรงเป็น เสือ

วันอังคาร ชื่อนาง รากษส มีพาหนะทรงเป็น หมู

วันพุธ ชื่อนาง มณฑา มีพาหนะทรงเป็น ลา

วันพฤหัสบดี ชื่อนาง กิริณี มีพาหนะทรงเป็น ช้าง

วันศุกร์ ชื่อนาง กิมิทา มีพาหนะทรงเป็น ควาย

วันเสาร์ ชื่อนาง มโหทร มีพาหนะทรงเป็น นกยูง


วันมหาสงกรานต์ในปีนี้ ตามปฏิทินสุริยคติจะตรงกับวันเสาร์ที่ 14  เมษายน พ.ศ. 2561 เวลา 09.01.48 น. นางสงกรานต์ชื่อ นางมโหธรเทวี ทรงพาหุรัด (เครื่องประดับสวมรัดต้นแขน) ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) ทรงอาภรณ์เป็นแก้วบิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จยืนเหนือหลังนกยูง ซึ่งเป็นพาหนะทรง




สานวัฒนธรรม

รดน้ำดำหัวไหว้ขอพรผู้ใหญ่

ปกติคำว่า ดำหัว แปลว่า สระผม แต่ในประเพณีสงกรานต์ล้านนา จะหมายถึงการไปแสดงความเคารพ ขอโหสิกรรมที่อาจได้ล่วงเกินในเวลาที่ผ่านมารวมทั้งการไปขอพรจากญาติผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน หรือในชุมชน ครูบาอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา 

โดยส่วนมากจะใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยไปไหว้ท่านเพราะมีความเชื่อว่าสีเหลืองของขมิ้นเหมือนสีจีวรพระ ส่วนส้มป่อยถือเป็นไม้มงคลขับไล่เสนียดจัญไรความอัปมงคล



ก่อพระเจดีย์ทราย

มูลเหตุของการก่อเจดีย์ทราย มีเรื่องเล่าว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถีพร้อมบริวาร ได้เห็นหาดทรายขาวบริสุทธิ์ก็เกิดจิตศรัทธาก่อทรายเป็นเจดีย์ ๘ หมื่น ๔ พันองค์ แล้วอุทิศเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา 

เมื่อพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถามถึงอานิสงส์การก่อเจดีย์ทรายพระพุทธเจ้าตรัสว่า 

การที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาก่อเจดีย์ทรายถึง ๘ หมื่น ๔ พันองค์หรือเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือ จะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร

ส่วนในมิติทางวัฒนธรรมสมัยก่อนการเดินทางเข้าออกวัด อาจจะมีเม็ดทรายติดไปกับรองเท้า การก่อพระเจดีย์ทรายเป็นโอกาสให้เราได้ทำบุญด้วยการขนทรายเข้าวัด นอกจากอานิสงส์ผลบุญในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นกุศโลบายสร้างสรรค์ความสามัคคีของคนในชุมชนที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

เรียบเรียงโดย สารธรรม

ขอบคุณข้อมูลและภาพ
www.huahin.go.th
www.news.siamza.com
สืบตำนานวันสงกรานต์ สืบตำนานวันสงกรานต์ Reviewed by สารธรรม on 08:33 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.