คมธรรมคำพระ ป.ธ.9 อัญมณีแห่งพระศาสน์



ตลอด 31 ปีในการจัดงานมุทิตาพระมหาเปรียญธรรม 9 ประโยค ของวัดพระธรรมกาย นับว่าเป็นเวลายาวนานเพียงพอที่จะทำให้เห็นถึงความจริงใจในการสนับสนุนกิจกรรมของคณะสงฆ์ และขับเคลื่อนงานพระพุทธศาสนาในอีกหนึ่งบริบท

พระมหารณภพ กิตฺติธมฺโม พระหนุ่มวัย 26 ปี หนึ่งในจำนวน 6 รูปของพระมหาเปรียญธรรม 9 ประโยคจากสำนักเรียนวัดพระธรรมกาย ประจำปี 2561

วันนี้ท่านเมตตาตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับคำว่า ป.ธ.9 ผ่านมุมมองที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์สมกับภูมิรู้ภูมิธรรม



พิธีมุทิตา ป.ธ.9 ที่ดูยิ่งใหญ่แบบนี้ จัดขึ้นเพื่ออะไร.? 

เป็นการให้กำลังใจแก่ผู้สอบได้ และแสดงความยินดีในความสำเร็จของทุกๆ รูป

ซึ่งใครก็ตามเมื่อได้รับการมุทิตาก็เหมือนกับการได้รับธารน้ำใจที่ชุ่มเย็นจากที่เหนื่อยล้าก็กลับมีกำลัง 
พระภิกษุที่เรียนจบ ป.ธ.9 หลายๆ รูป ต่างทราบถึงความยากในการเรียนบาลีเป็นอย่างดี ต้องทุ่มเทสุดแรงกายใจเท่านั้นถึงจะได้มา 

ตลอดหลาย 10 ปี ที่ท่านได้ศึกษาพระพุทธพจน์มา ท่านได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้วเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

และแสดงกำลังใจว่าภาระงานพระศาสนาในวันข้างหน้า ที่ท่านจะต้องรับแม้จะเป็นงานที่หนักอึ้ง แต่ก็ขอให้ท่านสู้ให้เต็มที่ด้วยกำลังใจที่เต็มเปี่ยม

สำหรับญาติโยมที่มาร่วมงานจงทราบไว้เถิดว่า...

ผลงานที่พระภิกษุสอบ ป.ธ.9 ได้ ญาติโยมทุกท่านคือบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งสิ้น ข้าวทุกคำ ปัจจัยทุกบาททุกสตางค์ ที่ญาติโยมได้ทำนุบำรุงมาหลายสิบปี บัดนี้ได้สำเร็จผลแล้ว 

นี้คือผลงานอันล้ำค่าที่ได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา

จงปลื้มใจไว้เถิดว่า ภาพแห่งผลงานเหล่านี้ไม่ใช่ของหลวงพี่ ป.ธ.9 เท่านั้น แต่คือผลงานของญาติโยมทุกท่านด้วย

เป็นผลงานของหมู่คณะ ผลงานของพระพุทธศาสนาที่เรารักและศรัทธามากที่สุด

พระมหารณภพ กิตฺติธมฺโม (ผู้มีธรรมอันเป็นเกียรติยศ ) อายุ 26 ปี พรรษา 6 รับบุญที่กองวิชาการ DCI สำนักการศึกษา


เส้นทางการศึกษาพระบาลีของหลวงพี่เป็นอย่างไรบ้าง.?

หลวงพี่ใช้เวลาในการเรียนพระบาลี 13 ปี กว่าจะผ่านชั้น ป.ธ.9 คือ ตั้งแต่ประโยค 1 ถึงประโยค 9 เคยตกที่ชั้น ป.ธ.8 ชั้นเดียวถึง 5 ปี

ในช่วงที่สอบตกปีสองปีแรกๆ ไม่คิดอะไรมากคิดแค่ว่ามันยาก เราก็ตั้งใจเรียนให้ยิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่...

พอเริ่มสอบตก 3-4 ปีหลังชักเริ่มท้อ คิดว่าคงอีกนานกว่าจะสอบผ่านได้ ประกอบกับต้องรับบุญขององค์กรอย่างเต็มที่ไม่ได้เรียนหนังสือเป็นหลักเหมือนเดิมแล้ว


สามารถก้าวข้ามความท้อได้อย่างไร.?

ตอนนั้นเริ่มมีหลักในใจแล้วว่า “ความรู้เราผ่านแล้วละ คงเหลือแต่บุญบารมีเท่านั้น” จึงเริ่มตั้งใจรับบุญ เอาบุญให้เต็มที่ 

พอถึงเวลาไปสอบสนามหลวง แม้บางวิชาแทบจะไม่ได้อ่านเลย แต่ในใจคิดว่า เรามีความรู้ที่กลั่นมานานหลายปีแล้ว จึงเข้าสอบแบบสบายๆ ทำข้อสอบด้วยสมองโล่งๆ

ใช้หลัก ใสๆ สบายๆ นึกอะไรได้ก็เขียนไป ไม่คิดว่าจะผ่าน แต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะตก  หลังจากสอบเสร็จก็กลับมารับบุญ นั่งสมาธิให้ยิ่งขึ้นทำใจให้ใสๆ 

สุดท้ายจึงสอบผ่านได้ในที่สุด.!



หลายคนยังสงสัยว่า การเรียนบาลี และ เปรียญธรรมประโยค 9 คืออะไร.?

“ เรียนบาลี ” ก็คือการศึกษา และการดำรงรักษาพระพุทธพจน์ 

เป็นศึกษาธรรมะของพระพุทธองค์ผ่านทางอักษร แล้วประยุกต์มาเป็นบทฝึกปฏิบัติให้แก่ตนเองเพื่อความเป็นพระที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เมื่อตัวเราศึกษาและปฏิบัติได้แล้ว จึงนำความรู้ไปเผยแผ่ให้แก่ผู้อื่นต่อไป ผลที่ตามมาจากการศึกษานี้ยังเป็นการรักษาและสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนนานอีกด้วย


ส่วนคำว่า "เปรียญธรรม ประโยค 9" คือ ชั้นสูงสุดสำหรับการศึกษาภาษาบาลี แต่เป็นขั้นเริ่มต้นของการศึกษาพระไตรปิฎก 

ด้วยเหตุว่าพระไตรปิฎก ใครๆ ก็สามารถศึกษาได้จริง แต่...

หากไม่รู้อรรถ รู้ธรรม รู้ระเบียบวิธีของภาษาในพระไตรปิฎก เมื่อศึกษาลึกเข้าไปก็อาจสงสัยไปเสียทุกอย่าง

แต่หากผู้ศึกษาได้เรียนภาษาบาลีมาก่อนจะทำให้รู้และเข้าใจในระเบียบวิธีของภาษาในพระไตรปิฎก จึงสามารถเรียนรู้ และทำความเข้าใจได้แบบไม่ยากเย็นมากนัก

เราอาจกล่าวได้ว่าในบรรดาผู้ศึกษาพระไตรปิฎกด้วยกัน ผู้จบ ป.ธ.9 คือ บุคคลที่มีศักยภาพในการศึกษาพระไตรปิฎกมากที่สุด

เปรียญธรรมประโยค 9 คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาใช่ไหม.?

ถึงแม้ว่าการศึกษาภาษาบาลีจนจบ ป.ธ.9 จะ ไม่ได้เป็นแก่น ของพระศาสนาอย่างที่สุด แต่ก็นับว่าเป็นรากแก้ว ของพระพุทธศาสนา 

เพราะการศึกษาพระพุทธพจน์ยังมีอยู่เพียงใด ปริยัติ ยังไม่เสื่อมหายเพียงนั้น เมื่อปริยัติธรรมยังอยู่การ ปฏิบัติ ก็ยังเป็นไปได้ จนเกิดเป็นผล ปฏิเวธ ตามลำดับ

ฉะนั้นหากการศึกษา ปริยัติหมดลง ปฏิบัติ และปฏิเวธ ก็จะสูญหายไปเหมือนดังต้นไม้ที่รากเน่าเสียต้นไม้ทั้งต้นย่อมก็ตายลงฉะนั้น 

การดำรงตนในเพศสมณะให้มั่นคงมีหลักอย่างไร.? 

การศึกษาจนจบ ป.ธ.9 เป็นการเรียนจบภาคปริยัติส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่การจะดำรงตนในชีวิตพระ ต้องอาศัยเหตุหลายๆ อย่างด้วยกัน

ทั้งหลักปริยัติ ปฏิบัติต้องพร้อม อีกทั้งมโนปณิธาน กำลังใจ และอะไรอีกหลายอย่างต้องสมบูรณ์จึงจะสามารถบวชได้จนตลอดชีวิต

กล่าวได้ว่าการจบ ป.ธ.9 ไม่ใช่เครื่องรับประกันว่า พระรูปนั้นจะบวชได้ตลอดไป แต่เป็นเครื่องรับประกันว่า ถ้าพระรูปนั้นยังอยู่ในความเป็นพระ ก็จะเป็นพระที่มีความรู้ความสามารถรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา 



เส้นทางของบัณฑิตทางธรรมมาถึงระดับสูงสุดแล้ว ป.ธ.9 แต่ละรูปสามารถต่อยอด หรือจุดประกายวงการศึกษาบาลีให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นอย่างไร.?

ต้องบอกเลยว่าพระภิกษุหลายๆ รูป ที่เรียนบาลีจนจบ ป.ธ.9 นั้น ไม่ได้แค่เรียนเฉพาะภาษาบาลีเพียงอย่างเดียว แต่ยังศึกษาความรู้อื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย

บางรูปก็เรียนภาษาต่างประเทศ 
บางรูปก็ฝึกการเป็นพระนักเทศน์ 

ดังนั้นพระภิกษุรูปไหนถนัดด้านใด ก็จะนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ให้กลมกลืนกัน และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปพร้อมกันเป็นการต่อยอดความรู้ทางสายบาลี ให้มีความหลากหลายมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น...ผู้ที่ถนัดภาษาต่างประเทศ 

เมื่อเข้าใจภาษาบาลี ก็สามารถเข้าใจเนื้อหาธรรมะที่มีความลุ่มลึกต่างกัน ส่งผลให้ถ่ายทอดเป็นภาษาอื่นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ไม่ผิดเพี้ยนไปจากเนื้อหาธรรมะที่เป็นต้นฉบับภาษาบาลี



สถานการณ์ของพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน เช่น การจับสึกเจ้าสำนักเรียน การแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ โดยส่วนตัวหลวงพี่คิดว่าจะมีผลต่อระบบการศึกษาภาคปริยัติหรือไม่.?

ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกี่ยวเนื่องกันเสมอ เมื่อสิ่งหนึ่งถูกกระทบ อื่นสิ่งก็ย่อมไหวตาม

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางคณะสงฆ์ ก็ย่อมมีผลกระทบต่อวงการศึกษาของคณะสงฆ์แน่นอน การศึกษาอาจจะเกิดปัญหาในบางประการ หรือเกิดมุมมองต่อการศึกษาของคณะสงฆ์ที่ผิดไปจากเดิม


การนำวุฒิการศึกษาทางธรรม ไปเทียบเพื่อเรียนต่อทางโลก  หรือการเรียนทั้งปริยัติ และวิชาการทางโลกไปพร้อมกัน ความรู้ทั้ง 2 ฝั่งเกื้อกูลให้เกิดประโยชน์พระศาสนาได้อย่างไร.?

ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้เรียนคนนั้นๆ ว่าจะนำความรู้ไปใช้อย่างไรมากกว่า 

ผู้ที่เรียนหลายอย่างพร้อมกัน วิสัยทัศน์ก็จะยิ่งกว้างขวางมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก

การศึกษาในทางโลก ก็จะทำให้เห็นความเป็นไปว่าโลกกำลังหมุนไปทิศทางไหน และเราจะนำธรรมะไปประยุกต์ใช้อย่างไรให้ทันโลก และเหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ

แต่พระภิกษุเองก็ต้องพึงระลึกเสมอว่า เราเรียนเพื่อเป็นเครื่องมือ หรืออุปกรณ์เผยแผ่ธรรมะให้กว้างขวาง มิใช่เห็นบาลีเป็นแค่เพียงปริญญาเท่านั้น 
การศึกษาธรรมะก็จะได้และเป็นประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น





ปัจจุบันศาสนามักจะถูกมองว่าเป็นแค่ชุดความเชื่อ เช่น ความกตัญญูเป็นความความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นเท่านั้น หรือการ  fallow โค้ชนักสร้างแรงบันดาลใจ มีโปรไฟล์ดีๆ มากกว่าการสนทนาธรรมกับพระ ในฐานะของพระสงฆ์มีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร.?

คนในยุคปัจจุบัน เชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าความรู้อื่นๆ เสมอ คือถ้าวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้คือ จริง ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ก็คือ ไม่จริง 

ดังนั้นศาสนาในหลายๆศาสนาเมื่อถูกพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์จึงให้คำตอบไม่ได้ ทำให้ความรู้ของศาสนาถูกมองว่า เป็นแค่ความเชื่อเท่านั้น

แต่ในความเป็นจริง วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์ที่สมบูรณ์ที่สุด ยังมีการพัฒนาอยู่เสมอ ความรู้ที่ถูกต้องในปีนี้ อีกร้อยปีข้างหน้าอาจจะผิดก็ได้

ดังนั้น คำว่า “เหตุและผล” เป็นหนทางพิสูจน์ที่ถูกต้องที่สุดแล้วและวิธีการในการหาเหตุผลก็สำคัญไม่แพ้กัน มีความรู้หลายอย่างที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีอยู่จริง


ในฐานะพระ ป.ธ. 9 ของวัดพระธรรมกาย อยากพูดถึงหลวงพ่อองค์ที่อยู่ในใจอย่างไรบ้าง.?

มีครั้งหนึ่งตอนที่หลวงพี่บวชพระวันแรก ได้มีโอกาสไปถวายปัจจัย หลวงพ่อ ที่อาคารจาตุมมหาราชิกา

ตอนนั้นหลวงพ่อยังแข็งแรง หลวงพ่อถามและพูดคุยกับพระภิกษุเพื่อนๆ ที่บวชพร้อมกันในวันนั้นด้วยความยิ้มแย้มเบิกบาน ก่อนหลวงพ่อขึ้นรถกลับ 

หลวงพ่อชี้กลับมาที่พวกเรา แล้วก็พูดกับพระอาจารย์ที่มาต้อนรับหลวงพ่อว่า “ นี่นะ นักรบแห่งกองทัพธรรม ”

หลวงพี่ก็นึกยิ้มๆ ในใจว่า ผมก็ไม่รู้จะไปรบกับใครที่ไหนได้บ้าง แต่ว่าอย่างน้อยในวันที่วัดประสบกับสถานการณ์ครั้งหนึ่งนั้น

ผมและพระเพื่อนก็ได้ ถวายแชมป์บาลี ป.ธ.9 ที่มากที่สุดในประเทศ ให้กับหลวงพ่อและหมู่คณะ เพื่อเป็นการยืนยันว่า...

วัดพระธรรมกายของเรา ก็เรียนและสอนได้ถูกต้องตามหลักพระไตรปิฎกไม่นอกเหนือไปจากนั้นเลย.!



เรียบเรียงโดย สารธรรม

ขอบคุณภาพจาก
เพจ สหพันธ์มหาเปรียญฯ
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=900305800164634&id=830646943797187
คมธรรมคำพระ ป.ธ.9 อัญมณีแห่งพระศาสน์ คมธรรมคำพระ ป.ธ.9 อัญมณีแห่งพระศาสน์ Reviewed by สารธรรม on 02:56 Rating: 5

1 ความคิดเห็น:

  1. สาธุๆ สาธุครับ
    กราบอนุโมทนาบุญกับผู้มีบุญทุกท่าน
    ที่มีส่วนในมหากุศลนี้ด้วยครับ สาธุครับ

    ตอบลบ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.