บทเรียนธรรมกาย บทเรียนความเชื่อมั่นศรัทธาและพลานุภาพการจัดตั้ง
ตรวจค้น ถอดยศ ออกหมายเรียก
ไม่ว่าดีเอสไอ ไม่ว่าวัดพระธรรมกาย หากประเมินสถานการณ์ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 5/2560 ที่ออกมาเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ จะมีความแตกต่างกันดีเอสไออาจมองไปที่สามารถเข้าตรวจค้นภายในวัดได้สำเร็จไม่ว่าจะป็น ครั้งที่ 1 ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์
ไม่ว่าจะเป็น ครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์
ไม่ว่าจะเป็น ครั้งที่ 3 ในวันที่ 10 มีนาคม
อย่างน้อยก็ได้คำตอบว่า พระธัมมชโย ไม่ได้อยู่ภายในวัดขณะเดียวกันความสำเร็จนี้ยังประเมินได้จากการสามารถออกหมายเรียก พระสังฆาธิการแห่งวัดพระธรรมกาย ได้ทั้งคณะและยังสามารถผลักดันให้มีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
อันมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้ปฏิบัติการของดีเอสไอมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นกระทั่งในที่สุดพระเทพญาณมหามุนีก็กลายเป็น พระไชยบูลย์ ธัมมชโย กระทั่งในที่สุด พระราชภาวนาจารย์ก็กลายเป็น พระเผด็จ ทัตตชีโว และมีความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าในที่สุดพระไชยบูลย์ ก็จะต้องกลายเป็นนายไชยบูลย์
ตรงกันข้ามแม้จะถูกรุกแม้จะถูกปิดล้อม แม้จะต้องยอมรับการเข้าตรวจค้นแต่ทางด้านวัดพระธรรมกายกลับมองว่าฝ่ายของตนประสบความสำเร็จเช่นเดียวกันอะไรคือความสำเร็จของวัดพระธรรมกาย.?
สภาพการผ่อนปรนคำสั่ง “มาตรา 44”
การต่อสู้ของวัดพระธรรมกายอันดับ 1 ยืนยันในความบริสุทธิ์ของ พระไชยบูลย์ สุทธิผล
อันดับ 2 ไม่เห็นด้วยกับการใช้คำสั่งตามมาตรา 44
นั่นก็คือ ปฏิเสธการปิดล้อม ปฏิเสธการตรวจค้น น่าสนใจก็ตรงที่ภายในกระบวนการต่อสู้ วัดพระธรรมกายมิได้อาศัยแต่เพียง “มวลชน” อันเป็นของตนอย่างล้วนๆ
นั่นก็คือมิได้จำกัดเพียง พระ เณร หรือคณะศิษยานุศิษย์ ตรงกันข้ามได้อาศัยพุทธศาสนิกชนซึ่งอยู่นอกแวดวงวัดพระธรรมกายมาเป็นกำลังอย่างสำคัญ นั่นก็คืออาศัยผลสะเทือนจากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและไม่พอใจต่อมาตรการของรัฐบาล
อัตวินิบาตกรรม
เพื่อประท้วงมาตรา 44
ที่เด่นชัดเป็นอย่างมากก็คือ ประชาชนที่พักอาศัยและทำธุรกิจโดยรอบวัด การเกิดขึ้นของการชุมนุมในพื้นที่ตลาดกลาง คลองหลวง มาจากส่วนนี้และมีส่วนอย่างสำคัญในการร่วมกับคณะศิษยานุศิษย์ในการเคลื่อนไหวบริเวณหน้าวัดอย่างต่อเนื่องตลอด 20 กว่าวันยิ่งมีการอัตวินิบาตกรรมเพื่อ “ประท้วงมาตรา 44” จากพุทธศาสนิก ยิ่งสร้างผลสะเทือนขณะเดียวกัน ยิ่งการปิดล้อม ตั้งด่าน ตั้งจุดสกัด ทำให้มีการเสียชีวิตเพราะไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้ทันยิ่งทำให้เกิด รูปธรรมแห่งความไม่พอใจ
มองจากทางด้านวัดพระธรรมกาย อาจถูกปิดล้อมถูกรุกอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถเข้า-ออกและประกอบศาสนกิจได้ตามปกติขณะเดียวกัน พระไชยบูลย์ ธัมมชโย ก็ถูกรุกไล่ถอดสมณศักดิ์และอาจถูกลงโทษให้ลาสิกขา
แต่ความสำเร็จที่ได้มาก็คือ การโฆษณาต่อต้าน “มาตรา 44” การสร้างเงื่อนไขกระทั่งดีเอสไอจำเป็นต้องผ่อนปรนมาตรการในการปิดล้อมสกัดกั้นคืนความเป็นปกติมากยิ่งขึ้นให้กับทางวัดพระธรรมกายมาตรา 44 ยังคงอยู่การปิดล้อมลดลง
สวดมนต์พลานุภาพ
แห่งพลังศรัทธา พลังศาสนา
ความพอใจเฉพาะหน้าของวัดพระธรรมกายก็คือการผ่อนปรนมาตรการปิดล้อมและห้ามการเข้า-ออกอย่างเข้มงวดส่งผลให้การชุมนุมบริเวณตลาดกลาง คลองหลวง ยุติลงภาพที่เผยแพร่กันอย่างกว้างขวางคือภาพของคณะศิษยานุศิษย์เดินตามหลังพระภิกษุ สามเณร เข้าไป
ภายในวัดพระธรรมกายด้วยความปรีติปราโมทย์ทุกรูป ทุกคนเดินพนมมือโดยมีดอกบัว
ความหมายของอาการปรีติปราโมทย์นี้ไม่เพียงสามารถยืนยันได้ว่า พระไชยบูลย์ ธัมมชโย มิได้หลบ
ซ่อนอยู่ภายในวัด หากแต่อยู่ที่สามารถคืนความเป็นปกติให้กับวัดพระธรรมกาย หมายความว่าจะจัด
ประกอบศาสนกิจได้เหมือนกับก่อนวันที่ 16 กุมภาพันธ์
ผลก็คือในวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม วัดพระธรรมกายก็ระดมผู้เลื่อมใสสวด “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ได้ครบ 30,000,000 จบถือเป็นความ สำเร็จอันยอดเยี่ยม
ที่สำคัญตลอด 20 กว่าวันที่ถูกปิดล้อม ห้ามเคลื่อนไหวห้ามเข้า-ออก บรรดาพระภิกษุ สามเณร และ
คณะศิษยานุศิษย์ก็ยังยืนหยัดสวดมนต์อย่างสม่ำเสมอเสียงสวดมนต์จึงดังกระหึ่มทั้งจากภายในวัดและพื้นที่ตลาดกลาง คลองหลวง
แม้กระทั่งในยามเผชิญหน้ากับดีเอสไอ ตำรวจ และทหาร ไม่ว่าที่ตลาดกลาง คลองหลวงไม่ว่าพื้นที่ใกล้กับอาคารบุญรักษาก็ยังสวดมนต์ได้ไม่ขาดตอนเน้นให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าพลานุภาพแห่งวัดพระธรรมกาย คือ พลานุภาพแห่งเสียงสวดมนต์ พลังแห่งศรัทธา พลังแห่งศาสนา
ภาพที่ปรากฏผ่านสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์
เด่นชัดอย่างยิ่ง ในความเป็นเอกภาพ ความพร้อมเพรียงกันของเครือข่ายวัดพระธรรมกาย แม้จะประสบเข้ากับอำนาจอันแข็งแกร่งยิ่งใหญ่แห่ง “มาตรา 44”
กำแพงแห่ง..
ความเชื่อมั่นและศรัทธา
แต่บรรดาพระ สามเณร และคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายผนึกพลังกันอย่างเหนียวแน่นและมั่นคงยืนหยัดปกป้อง “หลวงพ่อ” ของพวกเขายืนหยัดปกป้อง “วัด” ของพวกเขา
สิ่งที่เรียกว่า “กำแพงมนุษย์” ตามนิยามจากดีเอสไอโดยเนื้อแท้แล้วก็คือ
“กำแพง” แห่งความเชื่อมั่นและความศรัทธาในทางความคิดอย่างที่เรียกว่า “วิชชาธรรมกาย” ส่งผลให้ ไม่กลัวความยาก ไม่กลัวความลำบากและแม้กระทั่ง ไม่กลัวความตายพลานุภาพเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ไม่เพียงแต่มีรากฐานมาจาก “ความเชื่อมั่น” หากที่สำคัญเป็นอย่างมากต้องดำเนินไปบนรากฐานแห่ง “การจัดตั้ง” อันมั่นคง
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ
คอลัมน์กรองกระแส
มติชนสุดสัปดาห์
ฉบับวันที่ 17 - 23 มีนาคม 2560
บทเรียนธรรมกาย บทเรียนความเชื่อมั่นศรัทธาและพลานุภาพการจัดตั้ง
Reviewed by สารธรรม
on
21:17
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: