อย่าแปลกใจ ถ้า พ.ร.บ.สงฆ์ ใหม่ผ่านฉลุย

"ถ้ากฎหมายนี้ผ่านได้สำเร็จ... ในอนาคตอันไม่ไกลเมืองไทยเรานี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าอาวาสทุกวัดทั่วราชอาณาจักร ปัญหาใหญ่ก็คือ 

ถ้านายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ไม่ใช่ผู้นับถือพระพุทธศาสนา อะไรจะเกิดขึ้น..."

ข้อความข้างต้นคือหนึ่งใน ๓ ประเด็นหลักที่ นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ได้แสดงความห่วงใยต่อการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นมุมองในมิติลึกซึ้งที่ชาวพุทธไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง โดยท่านได้กล่าวว่า

ความคิดเห็นของผมมีดังนี้


 ประการที่ ๑ 

ในย่อหน้า “สภาพปัญหา” ข้อความตอนที่ว่า

“นอกจากนั้นกรรมการบางรูปในขณะนี้ต้อง คดีอาญา หรือมีข้อกล่าวหา จนต้องพ้นจากตําแหน่ง จึงไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน”

ผมอ่านแล้วรู้สึกขำลึกๆ ตรงที่ว่า “จึงไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน”

ก็ใครละครับที่ใช้วิธีจัดการ แบบเอะอะโครมครามจน “ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน” แหลกละเอียดไม่มีชิ้นดี

พ่อแม่เราประพฤติชั่ว เราจะต้องไปยืนแหกปากด่าอยู่ตามสี่แยกเพื่อให้ “ไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใส” ด้วยหรือครับ.?



 ประการที่ ๒ 

ย่อหน้า “หลักการใหม่” นั้น สำคัญมากอยากจะให้อ่านแล้วคิดหลายๆ ชั้น

หลักการก็คือ “ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้ง” อันนี้เป็นภาษากฎหมาย ต้องระวังให้ดี

ตามตัวหนังสือนั้น “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง”

แต่ตามข้อเท็จจริงหรือเวลาปฏิบัติจริงๆ พระมหากษัตริย์หาได้ทรงคัดสรรตัวบุคคลด้วยพระองค์เองไม่

ผู้มีบทบาทมีอำนาจ คัดสรรตัวบุคคลตัวจริงก็คือ “ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” ซึ่งในที่นี้ระบุไว้ชัดว่าคือ “นายกรัฐมนตรี”

ดังนั้น ผู้คัดสรรตัวบุคคลตัวจริงก็คือนายกรัฐมนตรี

พูดชัดๆ ต่อไปนี้

ถ้าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่จะแก้ไขเพิ่มเติมนี้ผ่าน

นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้คัดสรรพระภิกษุที่จะดำรงตำแหน่ง กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะภาค 

เพื่อทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมภิไธย “แต่งตั้ง” ตามภาษากฎหมาย

โปรดสังเกตว่า 

ตาม “หลักการใหม่” นี้จำกัดพระสังฆาธิการระดับปกครองไว้เพียงเจ้าคณะภาค คือไม่รวมลงไปถึง เจ้าคณะจังหวัด

แต่ไม่มีปัญหาอะไร เปิดรูจมูกไว้ให้หายใจได้สักระยะหนึ่ง 

ถ้ากฎหมายนี้ผ่านได้สำเร็จ 

ในอนาคตจะขยายอำนาจการแต่งตั้งลงไปถึง

เจ้าคณะจังหวัด 
หรือเจ้าคณะอำเภอ
หรือเจ้าคณะตำบล
หรือแม้แต่เจ้าอาวาส

ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอันใด


เพราะฉะนั้น ในอนาคตอันไม่ไกลเมืองไทยเรานี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าอาวาสทุกวัดทั่วราชอาณาจักร

ปัญหาใหญ่ก็คือ 


ถ้านายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ไม่ใช่ผู้นับถือพระพุทธศาสนา อะไรจะเกิดขึ้น.?

กรุณาอย่าอ้างนะครับว่า

ถ้าเป็นเช่นนั้น โดยมารยาททางการเมือง นายกรัฐมนตรีก็อาจจะมอบหมายให้รองนายกฯ หรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่เป็นชาวพุทธเป็นผู้รับผิดชอบ

ที่ผมบอกว่ากรุณาอย่าอ้างก็เพราะว่า เมื่อถึงเวลานั้นไม่มีใครรับประกันได้เลยว่า นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา จะมีมารยาททางการเมืองอย่างที่คาดหวังหรือไม่

ถึงตอนนั้นนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาอาจจะอ้างหน้าตาเฉยเหมือนที่มีผู้นิยมอ้างอยู่ในเวลานี้ว่า

“ก็กฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น ข้าพเจ้าทำตามกฎหมาย”


ใครจะทำอะไรได้.?

นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา อาจจะคัดสรร “พระ” ที่ตนกำกับดูแลได้ เข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะสงฆ์ไทยได้ตามสบาย

ใครจะทำอะไรได้.?



ถ้าจะกำหนด “หลักการใหม่” ให้เหมาะสมแก่การที่เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ผมมีข้อเสนอดังนี้


ข้อหนึ่ง

ปรับแก้หลักการที่ว่า “ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้ง” โดยเพิ่มเติมข้อความว่า

“การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกระดับชั้นให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย”

นั่นหมายความว่า พระมหากษัตริย์จะทรงคัดสรรตัวพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งต่างๆ ด้วยพระองค์เอง หรือจะทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของผู้หนึ่งผู้ใดก็สุดแต่พระราชอัธยาศัย

นายกรัฐมนตรีหรือใครก็ตามไม่ต้องมายุ่งด้วย


ข้อสอง

ถ้ายังต้องการจะให้นายกรัฐมนตรีเป็น “ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” ให้ได้ ก็ขอให้มีกฎหมายกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่า

“นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยต้องเป็นผู้ นับถือพระพุทธศาสนา เท่านั้น”

อย่างนี้จึงจะเป็นหลักประกันว่า แม้ฆราวาสจะเป็นผู้แต่งตั้งพระ แต่ฆราวาสผู้นั้นก็เป็นชาวพุทธแน่ๆ

ถ้าจะโต้แย้ง (ซึ่งต้องมีผู้โต้แย้งแน่นอน) ว่าไปกำหนดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพทางการเมือง ผิดหลักประชาธิปไตย

ก็ต้องกำหนดหลักการใหม่ที่มีหลักประกันได้แน่นอนว่า ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งพระ ถ้ายังยืนยันจะให้เป็นฆราวาส-ก็จะต้องเป็นชาวพุทธเท่านั้น 

ไม่เปิดโอกาสให้ผู้นับถือศาสนาอื่น เข้ามามีส่วนยุ่งเกี่ยวด้วยเด็ดขาดซึ่งเป็นหลักการที่ถูกต้องที่สุดอยู่แล้ว

Buda gigante de Bamiyán, en Afganistán, destruido por los talibanes en el 2001. (AP).


 ประการที่ ๓ 

ย่อหน้าสุดท้ายของข้อความเขียนว่า “จึงขอเชิญพระภิกษุ และบุคคลทั่วไป ...”

ผมคาดว่าคนไทยรุ่นใหม่ ที่ส่วนมากไม่เคยเห็นความสำคัญของภาษาไทยอ่านข้อความตรงนี้แล้วคงไม่สะดุดใจอะไร

แต่ผมเป็นคนรุ่นเก่าที่ถูกสอนมาให้รู้จักระดับชั้นของภาษา อ่านแล้วก็สลดใจว่า

บัดนี้ความเสื่อมทรามของภาษาไทยระบาดเข้าไปถึงสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

เวลาเราจะขอให้พระภิกษุทำอะไรสักอย่าง ภาษาไทยใช้ว่า “ขออาราธนา” หรือ “ขอนิมนต์” 

ส่วนคำว่า “ขอเชิญ” เราใช้สำหรับบุคคลทั่วไป

ในที่นี้เอ่ยถึง “บุคคลทั่วไป” ด้วยก็จริง แต่จะใช้คำว่า “ขอเชิญ” กับพระภิกษุนั้นย่อมไม่ชอบอย่างยิ่งด้วยหลักภาษาไทย

อนึ่งในข้อความนี้เอ่ยถึงเฉพาะ “พระภิกษุ”

๑ แปลว่า “สามเณร” ไม่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น ใช่หรือไม่

๒ แปลว่า “สามเณร” ไร้สิทธิ์เสียยิ่งกว่า “บุคคลทั่วไป” ซึ่งอาจจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กที่ไหนก็ได้ ใช่หรือไม่

เผื่อว่าประเด็นนี้มีข้อกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่า สามเณรไม่มีสิทธิ์ แสดงความคิดเห็น ท่านผู้ใดทราบขอความรู้ด้วยครับ


แต่จะอย่างไรก็ตาม

ผมไม่แปลกใจเลยถ้า... 

ในที่สุดกฎหมายฉบับนี้ตามหลักการใหม่ที่ร่างมานี้ก็ ผ่านฉลุยด้วยดี และขอให้ทุกท่านก็อย่าได้แปลกใจด้วยเช่นกัน

การเปิดให้แสดงความคิดเห็นเป็นเพียงละครฉากหนึ่งเท่านั้น.!



และความจริงมีอยู่ว่า...


วโส อิสฺสริยํ โลเก
อำนาจเป็นใหญ่ในโลก

สพฺพํ รฏฺฐํ ทุกฺขํ เสติ
ราชา เจ โหตฺยธมฺมิโก.

ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองไม่ครองธรรมแผ่นดินก็เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

สพฺพํ รฏฺฐํ สุขํ เสติ
ราชา เจ โหติ ธมฺมิโก.

ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองครองธรรมแผ่นดินก็ร่มเย็นเป็นสุขถ้วนหน้า

ถ้าเมืองไทยยังมีโอกาสที่จะเลือกตัวผู้บริหารบ้านเมืองได้ ก็ขอให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นข้อเตือนใจเราทุกคนว่า

จงช่วยกันอบรมสั่งสอนกล่อมเกลาลูกหลานไทยให้เป็นผู้ครองธรรมไปตั้งแต่เล็กแต่น้อยเมื่อเขาเติบใหญ่ได้เป็นผู้บริหารบ้านเมือง

บ้านเมืองของเรา จะได้มีผู้บริหารบ้านเมืองที่ครองธรรม แผ่นดินไทยก็จะร่มเย็นเป็นสุขถ้วนหน้าท่านจะหัวเราะเยาะว่าผมฝันบ้าก็เชิญตามสบาย

แต่ถ้าเราไม่ฝันไว้แบบนี้ แล้วไม่พยายามช่วยกันทำให้ได้โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อนตั้งแต่วันนี้

วันหนึ่งเมื่อผู้ที่ไม่ครองธรรมเข้ามาเป็นผู้บริหารบ้านเมือง เราจะเป็นบ้ากันทั้งแผ่นดิน


นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑
๑๐:๒๖



ย้อนอ่านเนื้อความในร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม
พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
ซึ่งกล่าวถึงสภาพปัญหา และหลักการใหม่ที่ต้องการแก้ไข


ผมได้อ่านข้อความที่ตั้งชื่อว่า

“การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕” 

ซึ่งเข้าใจว่าออกมาจาก สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เชิญชวนให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังที่ระบุไว้ในชื่อเรื่องนั้นแล้ว

ข้อความนั้นคงมีเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ทั่วกันแล้ว แต่เพื่อให้เห็นเป็นหลักฐานในที่นี้ทีเดียว และเพื่อญาติมิตรจะได้ไม่ต้องไปเที่ยวหาอ่านในที่อื่นให้ยุ่งยากผมจึงได้คัดข้อความมาไว้ในที่นี้แล้ว

ขอเชิญญาติมิตรอ่านข้อความนั้น ต่อจากนั้นจะเป็นความคิดเห็นของผม


การรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๑ รับหลักการให้มีการจัดทําร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕

ในประเด็นเกี่ยวกับมหาเถรสมาคม ในฐานะองค์กรปกครองคณะสงฆ์นั้น 

เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๐ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๑ ดังกล่าว

จึงเปิดรับฟังความเห็นประกอบการจัดทําร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเวลา ๗ วัน ดังนี้

“สภาพปัญหา” 

มหาเถรสมาคมตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานกรรมการ สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และพระราชาคณะอีกไม่เกิน ๑๒ รูป

ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเป็นกรรมการ และมีวาระ ๒ ปี แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่าสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งเป็นกรรมการโดยตําแหน่งมักเป็นผู้เจริญพรรษายุกาลจึงชราภาพ และอาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพ 

ทําให้ไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้สม่ำเสมอ บางครั้งจําเป็นต้องลาการประชุมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เหตุอย่างเดียวกันอาจเกิดได้แม้กับกรรมการอื่นซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง 

นอกจากนั้นกรรมการบางรูปในขณะนี้ ต้องคดีอาญา หรือมีข้อกล่าวหาจนต้องพ้นจากตําแหน่ง จึงไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน 

ทั้งที่องค์กรนี้จะต้องเป็นหลักในการปกครองคณะสงฆ์ และก่อให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังฆมณฑล 

จึงสมควรปรับปรุงแก้ไขที่มา และองค์ประกอบของมหาเถรสมาคมเสียใหม่ 

เพื่อให้ได้พระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร มีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์มาเป็นกรรมการและผู้ปกครองคณะสงฆ์ในลําดับชั้นต่างๆ 

ตลอดจนชักนําให้เกิด การปฏิรูป หรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์ และการจัดระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับวัดและวัตรปฏิบัติของพระภิกษุ

ให้เรียบร้อยดีงามตามพระธรรมวินัย กฎหมายของบ้านเมือง ความคาดหมายของพุทธศาสนิกชน และจารีตประเพณีอันดีงามของชาติ

“หลักการใหม่” 

ให้ยกเลิกองค์ประกอบกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตําแหน่ง ทั้งนี้ยังคงให้มีกรรมการอื่นนอกจากประธานกรรมการในจํานวนเท่าเดิม (๒๐ รูป) แต่ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้ง

จากพระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ 

และทรงมีพระราชโองการ ให้กรรมการดังกล่าวพ้นจากตําแหน่งได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

หลักเดียวกันนี้ ใช้กับการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะภาคด้วยตามที่มีพระราชดําริเห็นสมควร

ให้กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายคณะสงฆ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ใช้บังคับ ยังคงดํารงตําแหน่งต่อไป

จนกว่าจะทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมขึ้นใหม่ตามกฎหมายนี้

จึงขอเชิญพระภิกษุ และบุคคลทั่วไป 

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการตามประเด็นดังกล่าวเข้ามาได้ทางเว็บไซต์สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th

ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๑

ขอบคุณภาพประกอบ
https://www.phuttha.com
https://www.gettyimages.co.uk
workpointNews
อย่าแปลกใจ ถ้า พ.ร.บ.สงฆ์ ใหม่ผ่านฉลุย อย่าแปลกใจ ถ้า พ.ร.บ.สงฆ์ ใหม่ผ่านฉลุย Reviewed by สารธรรม on 23:50 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.