Step ต่อไป...แก้กฎหมายแพ่ง ผุดบัญชีธรรมไร้ดอกผลส่งสงฆ์บริสุทธิ์



Highlight

ในทางโลกและทางธรรม พระสงฆ์รับเงินได้หรือไม่.?

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรทัต  อดีตคณะบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอแนวทางในการแก้ัปัญหาเกี่ยวกับการแตะต้องทรัพย์สินเงินทองของพระสงฆ์ ทั้งในมิติทางโลก และทางธรรม 

โดยให้แนวทางที่เชื่อว่าจะแก้ปัญหา เงินทอนวัด ผ่านโจทย์ตั้งต้นที่ว่า ไม่ให้ต้องการให้พระจับสัมผัสเงิน และมีทรัพย์สินเป็นส่วนตัวที่ได้มาขณะที่บวชเป็นพระไม่ว่าจากทางใด เพราะผิดพระธรรมวินัย

ส่วนการแก้ไขกฎหมายแพ่ง มาตรา 1623 ที่ว่าด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์ในการครอบครองทรัพย์สินของพระสงฆ์ขณะที่ยังบวชอยู่ ต้องมีการแก้ไขเพื่อให้กฎหมายบ้านเมืองสอดรับ หรือไม่ขัดกับพระธรรมวินัย

บัญชีของวัดนามว่า บัญชีธรรม เป็นบัญชีรักษาเงินคงคลังไร้ดอกผลของวัดทั้งประเทศ ที่เปิดไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย 

นอกจากนี้เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์พระสงฆ์หากต้องจับจ่ายปัจจัย 4 ผ่านไวยาวัจกรที่ผ่านหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งเท่านั้น 

หากโยมจะ ถวายปัจจัยให้เขียนผ่านใบปวารณาถวายพระ จากนั้นจึงเอาเงินไปให้ไวยาวัจกรในภายหลัง โดยในรายละเอียด อาจารย์ปรีชา กล่าวว่า

ในทางธรรม 

ตามพุทธบัญญัติของพระพุทธองค์ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า พระภิกษุแตะต้องรับทรัพย์สินเงินทองไม่ได้ มีอยู่ในสิกขาบท ในศีล 227 ข้อ ว่าห้ามพระภิกษุไปแตะต้องทรัพย์สินเงินทองถ้าท่านไปแตะต้องเป็น อาบัติ แต่ก็สามารถ ขอปลงอาบัติได้

ถ้าจะให้ถูกต้องให้ ญาติโยมถวายผ่านใบปวารณาที่ระบุจำนวนเงินไว้ ท่านจะได้รู้ว่าเท่าไหร่ แล้วก็เอาเงินนี้ไปมอบให้ไวยาวัจกรในภายหลัง นี่เป็นการปฏิบัติที่เคร่งครัดตามพระธรรมวินัย 

เป็นการหลีกเลี่ยง ไม่ให้ท่านไปแตะต้องทรัพย์สินเงินทอง ถ้าท่านจำเป็นต้องใช้ปัจจัย 4 ก็เรียกใช้ผ่านไวยาวัจกร


ไวยาวัจกร 

จึงเป็นตำแหน่งสำคัญ ตามประมวลกฎหมาย ตาม พรบ.คณะสงฆ์ปัจจุบัน ให้ถือว่าตำแหน่งนี้เป็น เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หมายความว่าเมื่อเป็นเจ้าพนักงานแล้ว 

หากไวยาวัจกรกระทำความผิด เบียดบังทรัพย์สินเป็นของตัวเอง เรื่องนี้จะมีโทษหนักกว่าบุคคลธรรมดากระทำความผิด

โดยทั่วไป เจ้าอาวาสจะเป็นผู้แต่งตั้งไวยาวัจกร ที่ตนไว้วางใจแล้วก็เป็นไปจนตลอดชีวิต โดยไม่มีหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง 

ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้นอกจากวางหลักเกณฑ์ของไวยาวัจกรแล้ว ต้องแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งมาตรานี้ก่อน

ข้อเสนอแนะของผมคือ 

ให้แก้ว่า "ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศได้มาระหว่างบวช ให้ตกเป็นทรัพย์สินของวัดโดยทันที "

เมื่อตกเป็นทรัพย์สินของวัดให้ขึ้นบัญชีไว้เรียกว่า บัญชีธรรม ถ้าภิกษุนั้นจะใช้ก็เรียกจากไวยาวัจกรจ่ายออกไป 

ปัญหาก็ไม่เกิดแล้วก็สอดคล้องตามพระธรรมวินัยด้วย.!

หลักเกณฑ์การแต่งตั้งไวยาวัจกร

ซึ่งตำแหน่งสำคัญอย่าง ไวยาวัจกรเราก็ต้องมีหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ก็ต้องเสนอโดย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผ่าน กรรมการ มส. ว่าควรจะมีหลักเกณฑ์ประการใด

ซึ่งหลักเกณฑ์ที่อาจารย์คิดว่าควรจะมีคือ

ไวยาวัจกรจะต้องมีความรู้ด้านบัญชี มีความรู้ทางด้านกฎหมาย ต้องมีความรู้ทางด้านพระธรรมวินัย แน่นอนไม่ต้องจบปริญญาแต่สามารถอบรมได้ 

และวาระการดำรงตำแหน่งจะต้องไม่อยู่ตลอดชีวิต จะ 5 ปี 3 ปี แต่สามารถต่ออายุได้


ในทางโลก

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623  (ซึ่งเป็นกฎหมายมาตรานี้ที่ขัดต่อพระธรรมวินัย) 

ได้บัญญัติรับรองว่า...

พระภิกษุสามารถมีทรัพย์สินเงินทองได้เหมือนเอกชน ทรัพย์สินที่ได้มาขณะเป็นพระภิกษุ ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์นั้นไม่ว่าได้มาโดยทางใด

จะตกเป็นของวัดก็ต่อเมื่อท่านไม่ได้จำหน่ายจ่ายโอนไปทางใด หรือไม่ได้ทำพินัยกรรมยกให้ใคร จึงจะตกเป็นของวัดทั้งหมดเมื่อท่านถึงแก่มรณภาพ 

ทีนี้เมื่อท่านมีทรัพย์สินเงินทองเป็นจำนวนมาก มันก็เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิด "เงินทอนวัด" ในขณะนี้ 

แก้ไขกฎหมายข้อนี้ 

แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวนี้โดยให้บัญญัติว่า... 

ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาในระหว่างสมณเพศะหว่างบวชให้ตกเป็นสมบัติของวัดวัดคือเจ้าของ วัดทุกวัดตามกฎหมายเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่ดูและอยู่แล้วซึ่งคนดูแลในที่นี้ก็คือ ไวยาวัจกร

ในความเห็นของผม ก็น่าจะมาบัญญัติใหม่ใน พรบ.คณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันจะเป็นมาตราใดก็แล้วแต่ในสาระทำนองนี้

และเมื่อจะทำการแก้ไข ควรมาจากการเสนอแนะทางฝ่ายพระสงฆ์ ผ่านกรรมการ มส. โดยสำนักพุทธฯ ยกร่างขึ้นมาแล้วก็เอาไปถวาย กรรมการ มส. ว่าบัญญัติอย่างนี้ท่านเห็นด้วยหรือไม่


คำถาม : ตรวจสอบบัญชีวัดเหมือนตรวจสอบศรัทธา ทางโลกจะมายุ่งอะไรกับทางธรรม.?

อันนี้ถือว่าเป็นทางธรรม ทางโลกท่านตัดกิเลสไปแล้วไงท่านมีกิเลสไม่ได้ กฎหมายทางบ้านเมือง แม้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดก็ไม่สามารถบัญญัติขัดต่อพระธรรมวินัยได้

พระธรรมวินัยสูงกว่ากฎหมายบ้านเมือง เพราะรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดก็มาจากปุถุชนที่ยังมีกิเลส 

แต่พระธรรมวินัย มาจากพระพุทธองค์ที่มีความบริสุทธิ์มีความใสสะอาด 

บทบัญญัติทางพระธรรมวินัยที่ว่าพระภิกษุห้ามมีทรัพย์สิน ไม่สามารถไปแตะต้องทรัพย์สินได้เป็น “อกาลิโก” ไม่สามารถแก้ไขได้อีกแล้ว 

เราก็แก้ไขกฎหมายทางบ้านเมืองให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัย ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิด


เปิดบัญชีธรรม

เราจะเห็นว่าพระภิกษุเข้าไปธนาคารบ่อยๆ  มีเงินฝากบัญชีส่วนตัวมีดอกผล เมื่อมีบัญชีธรรมแล้วควรเปิดที่ไหน

ถ้าเปิดไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเอกชน มันก็จะมีดอกผลตามมาเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องให้ กรรมการ มส.วินิจฉัยว่า

ทรัพย์สินที่ฝากในบัญชีควรมีดอกผลไหม การมีดอกผลขัดต่อพระธรรมวินัยไหม.!

ถ้าจะไม่ให้มีดอกผล ก็อาศัยบัญชีของกระทรวงการคลังที่เปิดบัญชีรักษาเงินคงคลังไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กับคลังจังหวัด

อันนี้เป็นระบบของความมั่นคงเราเรียกว่า บัญชีเงินคงคลังไม่มีดอกผล  อันนี้เป็นข้อเสนอแนะของผมนะ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์


หลักการนี้น่าจะยังเป็นโจทย์ที่หาคำตอบที่ถูกที่สุดไม่ได้ เพราะแท้จริงแล้วปัญหา "เงินทอนวัด" ก็ล้วนมีโจทย์ตั้งต้น และบริบทอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากพระสงฆ์แต่เพียงฝ่ายเดียวดังที่ปรากฏหลายครั้งหลายคราวว่ากรณีนี้

เกิดจากเจ้าหน้าที่ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ.!

เรียบเรียงโดย สารธรรม

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
รายการ ตอบโจทย์ ThaiPBS
วันที่ 13 มิ.ย.2561
Step ต่อไป...แก้กฎหมายแพ่ง ผุดบัญชีธรรมไร้ดอกผลส่งสงฆ์บริสุทธิ์ Step ต่อไป...แก้กฎหมายแพ่ง ผุดบัญชีธรรมไร้ดอกผลส่งสงฆ์บริสุทธิ์ Reviewed by สารธรรม on 01:52 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.