ผ่าหลวงปู่พุทธะอิสระ ตอนที่ 5 พระลิขิต

ผ่าหลวงปู่พุทธะอิสระ
ตอนที่ 5 พระลิขิต


เหตุผลใหญ่ที่พระหรือฆราวาส นักกิจกรรมเชิงปริยัติทั้งหลายใช้เป็นหลักในการจะปรับอาบัติปาราชิกพระธัมมชโยให้ได้ คือการอ้างถึง "พระลิขิต" ของสมเด็จพระณาณสังวร พระสังฆราชในสมัยนั้น ซึ่งมหาเถรสมาคมเรียกว่า "พระดำริ" 

ทำไมคนเหล่านั้นจึงใช้พระลิขิตมาเป็นเครื่องมือในเรื่องนี้ ?

ผมมีความเห็นว่าเพราะมันคือการจี้ "จุดตาย" ของชาวพุทธไทยแทบทุกคน เพราะคนไทยล้วนให้ความเคารพสมเด็จพระสังฆราชอย่างสูงสุด ดุจเดียวกับที่ให้ความเคารพเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อะไรที่ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท คนไทยจะต่อต้านสิ่งนั้นอย่างถึงที่สุด

จุดตายนี้เหมือนเอาเข็มจิ้มลูกโป่ง สะกิดโดนนิดเดียวก็แตกโพละ!

เราคงจำได้ เมื่อไหร่มีม็อบล้มรัฐบาล หรือมีการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อนั้นข้อหาล้มเจ้า ไม่จงรักภักดี จ้องทำลายสถาบัน จะเป็นวาทกรรมที่ถูกนำมาใช้อยู่เสมอ ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ว่าม็อบหรือรัฐบาลอาจสาดโคลนเรื่องนี้เข้าหากัน แก้ตัวกันเป็นพัลวันเพื่อหาความชอบธรรมให้ตัว เพราะใครถูกมองว่าไม่จงรักภักดี รับรองไม่มีวันอยู่ได้ ม็อบนายสนธิยังนำสัญลักษณ์หลายอย่างมาใช้เพื่อปั่นให้คนมาเข้าข้างตัวเลย

วิธีนี้ใช้ได้ผลดีเสมอมา เป็นเหมือนฟางที่ติดไฟง่าย โยนไม้ขีดก้านเดียวลงไปก็ลุกพรึบไหม้ทันที จนบางครั้งผมรู้สึกว่าคนไทยเชื่ออะไรง่ายดี เหมือนสิงสาราสัตว์ที่วิ่งหนีตามกระต่ายตื่นตูม

สถาบันกษัตริย์อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน ผูกพันจนไม่มีอะไรจะมาแยกออกไปจากใจประชาชนได้อีกแล้ว ใครก็ตามที่คิดทำลาย ความจริงทหารไม่ต้องปฏิวัติรัฐประหารก็ได้ ยังไงคนไทยก็ลุกมาต่อต้านให้โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

แต่แน่นอนมนุษย์มันนานาจิตตัง จะให้คิดแบบเดียวกันมันก็เกาหลีเหนือเกินไป ประเทศประชาธิปไตยในโลกที่มีสถาบันกษัตริย์ส่วนใหญ่ จึงไม่ได้ใส่ใจกับความคิดต่างนั้นมากเกินควร ทั้งนี้เพราะจำนวนมันเล็กน้อยเหลือเกิน เช่นในประเทศไทย สมมุติมีที่คิดต่างไปสักหมื่นคนแสนคน ก็แค่ 0.01 หรือ 0.1% ของคนทั้งประเทศเท่านั้นเอง 

สถาบันกษัตริย์กับศาสนา ล้วนอยู่ในสภาพสูงส่งดุจเดียวกัน ถ้าคนไทยไม่ถูกปั่นหัวง่ายไปหน่อย ก็น่าจะคิดได้ว่า ต่อให้ปัญญาอ่อนแค่ไหนก็ยังไม่กล้าคิดร้ายเลย แต่เพราะมันเป็นจุดตาย วาทกรรมนี้จึงยังใช้ได้ผลเสมอมา คนไทยส่วนหนึ่งจึงตกเป็นเครื่องมือให้คนบ้าเหล่านั้นโดยไม่ทันรู้ตัว

กรณี "พระลิขิต" ก็เช่นเดียวกัน ถ้ามองเผิน ๆ ฝ่ายนักกิจกรรมเชิงปริยัติทั้งหลายที่ยกพระลิขิตมาใช้ เหมือนจะเป็นฝ่ายมีความชอบธรรม ในขณะที่ฝ่ายนิ่ง ไม่ตอบโต้ พยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดถึง กลับเป็นฝ่ายผิด ถูกกระทำ รุมยำโดยนักกิจกรรมเหล่านั้นผ่านสื่อต่าง ๆ ออกไปสู่สังคม

แต่เมื่อเราตั้งสติให้ดี มองลงไปที่ความจริง ลบภาพมายาที่บดบังทิ้งไป ผมกลับเห็นสิ่งตรงกันข้าม คือ พวกไหนที่เคารพ รักษาพระเกียรติยศของสมเด็จพระสังฆราช จะหลีกเลี่ยงไม่พูดถึง หรือถ้าต้องพูดก็อ้อมแอ้มแบบขอไปที ต่างกับพวกที่พร่ำพูดเพื่อประโยชน์ โดยไม่สนกฎเกณฑ์ใด ๆ กลับเป็นผู้ทำลายพระเกียรติยศของพระองค์แทน 

พวกแรกที่ถูกสังคมประณาม กลายเป็น "บัณฑิต" ที่น่านับถือ ขณะที่อีกฝ่าย คือ "คนพาล" ที่น่ารังเกียจไป

....................................

วันนี้คงหลบเลี่ยงเรื่องพระลิขิตไปไม่ได้ แต่ขอให้คำมั่นไว้ก่อนว่าผมจะพูดถึงด้วยความระมัดระวัง และเพื่อรักษาพระเกียรติของพระสังฆราชไว้อย่างเต็มที่ ถ้าหากมีตรงไหนที่หมิ่นเหม่ไป ต้องกราบขออภัย ผมไม่มีเจตนาไปในทางเลวร้ายใด ๆ ทั้งสิ้นครับ

พระลิขิตมีประเด็นที่ถกเถียงกันมากคือ "จริง" หรือ "ปลอม" 

ผมไม่ทราบครับ ผมไม่เคยเห็นตัวจริงสักฉบับเลย เห็นแต่ที่เขาลงตามข่าว คนที่เห็นว่า "จริง" ก็มีเหตุผล เช่นว่า ถ้าปลอมจะนำไปใช้เป็นหลักฐานในศาลได้อย่างไร

ส่วนพวกที่ว่า "ปลอม" ก็ตั้งข้อสังเกต เช่น มีเลขอารบิกใช้ในพระลิขิต วรรคตอนข้อความขาดเป็นช่วง ๆ หรือลายเซ็นสะดุดเป็นระยะ และเป็นรูปเหลี่ยมต่างจากปกติ อะไรทำนองนั้น

สรุปว่าเถียงกันเมามันทั้ง 2 ฝ่าย

ในความเห็นผมนั้น แม้ยังคงไม่รู้ว่าจริงไหม แต่เมื่อได้พิจารณาเท่าที่สติปัญญาจะมี ผมรู้สึกว่าพระลิขิตมีความ "ไม่สมเหตุสมผล" หลายประการ

มันคงง่ายมากนะครับ ถ้าผมเป็นกรรมการ มส. เพราะผมคงไปกราบทูลถามพระองค์ตรง ๆ ว่าทรงมีพระดำริอย่างไร จะได้ชัดกันลงไปไม่ต้องเถียงกัน  แต่คงไม่มีใครอยากรบกวนให้ทรงรำคาญพระทัย จึงต้องมานั่งกลุ้มใจเถียงกันมาเถียงกันไปอย่างนี้

ผมคิดอย่างนั้นจริง ๆ นะครับ เพราะแปลกมาก หลังจากที่พระลิขิตทั้ง 6 ฉบับออกมาตั้งแต่ปี 2542 จนสิ้นพระชนม์เมื่อ 24 ต.ค. 2556 รวมเวลา 14 ปีเศษ กลับไม่มีใครได้ยินเรื่องนี้ตรง ๆ จากพระองค์อย่างเป็นทางการสักคนเดียว

แม้ลึก ๆ ผมจะแอบคิดว่าน่าจะมีคนทราบนะครับ แต่เขาคงไม่พูดอะไร เพราะเกรงว่าจะกระทบไปถึงพระองค์

ข้อที่ทำให้เกิดความสงสัยในพระลิขิต ไม่ได้หมายความว่าเราสงสัยในสมเด็จพระสังฆราชนะครับ แต่เราสงสัยในผู้นำพระลิขิตนั้นออกมาสู่สาธารณชนต่างหาก

ซึ่งผมขอตั้งข้อสังเกต ถึงความไม่สมเหตุสมผล ดังนี้

1. การปลอมแปลงพระลิขิตมีเกิดขึ้นจริงหลายครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ เอาเฉพาะที่จับได้หรือน่าสงสัยก็หลายครั้ง จึงไม่น่าแปลกใจถ้าจะมีใครสงสัยพระลิขิตเรื่องพระธัมมชโยไปด้วย

เช่น มติ มส. วันที่ 31 ส.ค. 2547 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติสรุปให้ที่ประชุมฟังว่า

~~~ กรณีมีการปลด นายบัณฑูร ล่ำซำ   ผู้จัดการและประธานมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ จากตำแหน่ง และได้มีการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามให้สืบสวนในทางลับ  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เพื่อสืบสวนกรณีที่เชื่อว่า จะมีการปลอมแปลงเอกสารของมูลนิธิฯ รวม 6 รายการ  และได้มีการสืบสวนอย่างต่อเนื่องมาโดยลำดับ จนในที่สุด วันที่ 30 กรกฎาคม 2545 กองพิสูจน์หลักฐานได้ออกรายงานที่ 1001/2545 ลงความเห็นว่า ลายพระนามของสมเด็จพระสังฆราช  ในเอกสารทั้ง 6 รายการนั้น  ไม่ใช่ลายพระนามของสมเด็จพระสังฆราชฯ  แต่อย่างใด

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2547  นายเรวัตร อุปพงศ์  และ นายสิทธิโชค ศรีสุคนธ์  ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม” โดยทั้ง 2 คนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา  และให้การพาดพิงถึงพระราชาคณะรูปหนึ่ง  และในวันที่  29 กรกฎาคม  2547 พระราชรัตนมงคล (ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวร ฯ) ได้เดินทางมาที่สถานีตำรวจพญาไท  เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าวด้วย

~~~ ในเดือนธันวาคม 2546  ได้มีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชเสนอแต่งตั้งพระราชรัตนมงคล เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ถึงผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อนำเสนอมหาเถรสมาคมทราบ แต่พระเทพสารเวที เลขานุการของสมเด็จพระสังฆราช ได้มีลิขิตขอพระลิขิตฉบับดังกล่าวคืนไป  และได้เป็นข่าวปรากฏทางสื่อมวลชน จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์โดยทั่วไปถึงความไม่เหมาะสมต่าง ๆ เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสียพระเกียรติยศของสมเด็จพระสังฆราช  และเกิดความสับสนในหมู่ชาวพุทธเป็นอย่างยิ่ง

กรรมการ มส. ปกติแล้วต้องเป็นพระผู้ใหญ่ระดับชั้น "ธรรม" ขึ้นไปครับ พระราชรัตนมงคลเพิ่งได้เลื่อนสมณศักดิ์จากชั้นสามัญมาเป็นชั้นราช เมื่อ 5 ธ.ค. 2546 แต่ถัดมาแค่ 3 วัน คือ 8 ธ.ค. กลับมีพระลิขิตให้แต่งตั้งเป็นกรรมการ มส. ซึ่งถ้าไม่ปลอมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร เพราะพระสังฆราชย่อมทรงทราบกฎในข้อนี้ดี จึงเป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะมีพระลิขิตแบบนี้ได้เลย

ส่วนเลขานุการ ฯ ที่เรียกพระลิขิตกลับไป หนังสืออย่างนี้ผ่านหูผ่านตาท่านไปได้อย่างไร ก็ชวนสงสัยอยู่

จากเหตุการณ์นี้ ทำให้รองนายกรัฐมนตรี  (นายวิษณุ  เครืองาม)  นำเรื่องชี้แจงต่อคณะกรรมการวัดบวรนิเวศวิหารว่า  ขณะที่สมเด็จพระสังฆราชประชวร เห็นควรมีผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็มิได้คัดค้าน รองนายก ฯ  จึงได้นำเรื่องเสนอมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2547

ต่อจากนั้น มีพระผู้ใหญ่ กรรมการ มส. ฝ่ายธรรมยุต ทำหน้าที่กลั่นกรองพระลิขิตเพื่อป้องกันเหตุการณ์เกิดซ้ำก่อนนำเข้าที่ประชุมด้วย

2. นายอำนาจ บัวศิริ ผอ.สำนักงานพุทธมณฑล กล่าวในงานสัมนาเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2542 ว่า พระลิขิตฉบับที่ 3-4 เป็นกระดาษที่โรเนียว แล้วฝากคนขับรถมาไว้ที่กรมการศาสนา

แถมฉบับที่ 4 ที่แจกจ่ายให้สื่อมวลชนยังเป็นฉบับแฟ็กซ์ และไม่มีลายเซ็นพระนามด้วย

จึงชวนให้สงสัยในพฤติกรรมของผู้ที่จัดทำเอกสารเหล่านี้ ว่าอาจจะมีการใช้นามพระองค์ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง อาศัยความวางพระทัย จนหลงใช้อำนาจที่มีไปในทางที่ไม่สมควร

3. พระลิขิตฉบับแรกกล่าวโทษ (คงหมายถึงพระธัมมชโย) ไว้ 2 เรื่องคือ

บิดเบือนคำสอนหาว่าพระไตรปิฎกบกพร่อง ทำให้สงฆ์แตกแยก เป็นอนันตริ-ยกรรม และ
ให้มอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดทันที

แต่พอไปดูปัญหาที่หน่วยงานทั้ง 3 คือ กรมการศาสนา, กระทรวงศึกษาธิการ และ กรรมาธิการการศาสนา ฯ สภาผู้แทน ฯ เสนอมา ดูจะเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานจากแหล่งต่าง ๆ ไม่มีโจทก์กล่าวฟ้อง อีกทั้งข้อเสนอของพระพรหมโมลีก็ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ (คือไม่ใช่ประเด็นสำคัญ) จะมีของกรรมการบางรูปที่พูดถึงการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่ก็ไม่ทราบรายละเอียดจริงว่าเป็นอย่างไร ซึ่งท่านแนะนำให้ตรวจสอบต่อไป (คือ ณ วันนั้นยังไม่มีข้อมูลชัดเจน)

ยิ่งเรื่องบิดเบือนคำสอน หาว่าพระไตรปิฎกบกพร่อง ก็ไม่มีใครกล่าวชัดเจนว่าทำจริงไม่จริงอย่างไร จะมีก็แต่เรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ซึ่ง กรรมการบางท่านเสนอให้มีการตีความหรือหามติที่ชัดเจนต่อไป

สรุปว่าข้อมูล ณ วันนั้น ไม่มีอะไรกระจ่างในระดับชี้ชัดได้ว่าพระธัมมชโย หรือวัดพระธรรมกายมีความผิดจริง โดยเฉพาะเรื่องการเบียดบังทรัพย์ เรื่องการถือครองที่ดิน  ไปเริ่มสืบพยานหลักฐานจริงจังก็หลังจากการดำเนินคดีทางโลก (4 ต.ค. 2542) ซึ่งเกิดหลังมีพระลิขิต 5 เดือนเศษ

ดังนั้น โทษที่กล่าวหาพระธัมมชโยในวันนั้นดูจะเป็นการด่วนสรุปจนเกินไป เพราะยังไม่มีหลักฐานตรงไหนที่บ่งชี้ชัดเจนเลย  เป็นแต่เพียงข้อกล่าวหาที่ยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป จึงไม่น่าเป็นไปได้ ที่พระองค์จะตัดสินพระทัยที่ปรากฏในพระลิขิตเร็วขนาดนั้น  เรื่องนี้จึงยังน่าสงสัยว่ามีใครทำอะไรลับลมคมในอีกหรือเปล่า

อีกอย่างคือ แฟ้มจาก 3 หน่วยงานมากมายขนาดนั้น ด้วยพระพลานามัยในวัย 86 พรรษา และพระราชภาระที่มีมากมาย คงไม่สามารถจะอ่านหรือค้นเอกสารเหล่านั้นได้ด้วยพระองค์เองทั้งหมดแน่นอน ทีมงานเลขานุการ ฯ อาจทำหน้าที่รวบรวม นำเสนอให้ทรงพิจารณาอีกที จึงน่าสงสัยว่าทีมงานเหล่านี้กราบทูลพระองค์อย่างไร

4. เนื้อหาในพระลิขิตไม่ระบุชื่อของผู้ที่ถูกโจท คือไม่บอกว่าคือพระธัมมชโย แม้จากเนื้อหาพอเดาได้ว่าหมายถึงใคร แต่การโจทอาบัติหนักอย่างปาราชิกนั้น จะมาคลุมเครือไม่ได้  จึงน่าสงสัยมาก ว่าสมเด็จพระสังฆราชไม่น่าจะโจทใครในลักษณะนี้ ถ้าพระลิขิตไม่ใช่ของจริง คนปลอมก็คงไม่กล้าจริงเท่าไร ถึงคลุมเครือเอาไว้ป้องกันการถูกฟ้องในภายหลัง

5. กรรมการมหาเถรสมาคมในขณะนั้นมีทั้งหมด 19 รูป เป็นโดยตำแหน่ง 9 รูป อีก 10 รูป พระสังฆราชเป็นผู้แต่งตั้งหรือปลดออกได้ ดังนั้นถ้าพระองค์มีพระดำริอย่างไร เสียงพระองค์ย่อมมีน้ำหนักที่จะทำให้กรรมการ มส.ส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะชุดที่ทรงแต่งตั้งมา) สนองพระดำริของพระองค์ ถ้าไม่สนอง อาจทรงปลดแล้วตั้งคนที่วางพระทัยมาทำแทนได้อยู่แล้ว  ไม่จำเป็นต้องไปเล่าปัญหาเพื่อให้ปู่มาทำอะไร ผมเองยังสงสัยว่าปู่อาจจะกุเรื่องขึ้นมาเองก็ได้นะครับ

ทั้งนี้เพราะมหาเถรสมาคมอาศัยมติของกรรมการเป็นที่สิ้นสุด ไม่ได้ให้อำนาจใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ตัดสินใจ มติ มส. เท่านั้นจึงจะบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย อาจกล่าวได้ว่าเมื่อกรรมการ มส. ตัดสินอะไรไป ทั้งหมดต้องรับผิดรับชอบร่วมกัน 

แต่มติ มส.ที่ออกมานั้นยังคงยืนยันว่าพระธัมมชโยไม่ได้ผิดอะไร แม้จะมีพระลิขิตถูกปล่อยออกมาให้เห็นถึง 6 ฉบับก็ตาม แปลกพิศดารดีครับ (พระลิขิตบางฉบับ นักข่าวเห็นก่อนกรรมการ มส.ก็มี นี่ก็แปลกอีกเหมือนกัน ว่าปล่อยให้หลุดกันไปได้อย่างไร)

6. นักกิจกรรมเชิงปริยัติทั้งพระและฆราวาสเหล่านั้น ล้วนอ้างพระลิขิตมาใช้เป็นเครื่องมือเหมือนกันหมดทุกคน... 

(สรุปสาระจากที่นายอำนาจ บัวศิริ กล่าวไว้) ทั้ง ๆ ที่แต่ละรูปละคนล้วนไม่ใช่คนโง่ มีการศึกษาทั้งนั้น เป็นพระราชาคณะก็มี เป็นเปรียญ 9 ประโยคก็มี บางท่านจบปริญญาโท เอก เป็นผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยสงฆ์ แต่กลับรับฟังข้อมูลด้านเดียว บางทีอาศัยเอกสารไม่กี่แผ่น ข้อความไม่กี่บรรทัด ก็เอามาพูดโพนทะนากันได้เป็นเดือนเป็นปี

แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้มีใจคับแคบในการแสวงหาข้อเท็จจริง ทั้งประจักษ์พยานจากฝ่ายโจทก์หรือจำเลย พยานบุคคล เอกสารหลักฐาน และพยานแวดล้อมอื่น ๆ ให้ถ่องแท้เสียก่อนที่จะไปแสดงความคิดเห็นออกไปสู่สาธารณชนในวงกว้าง

และที่ตลกมาก คือแต่ละคนไม่มีใครอาจหาญพอจะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องด้วยตัวเองเลยสักคน ทั้งที่สิ่งที่ตัวพูดไป เหมือนจะมั่นใจในข้อเท็จจริงที่ตัวมี ฟ้องเองเลยสิ ดีกว่ามานั่งแอบให้สัมภาษณ์กล่าวหาหรือด่าคนอื่นไปวัน ๆ 

ทั้งหมดนั้น คือ "ความไม่สมเหตุสมผล" ที่ผมเห็น

....................................

คราวนี้เราจะมาพิจารณาพระลิขิตกัน โดยนำพระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคมมาใช้ว่าจะมีผลอย่างไรบ้างนะครับ

คือจะดูไปตามความเป็นจริง ไม่สนวาทกรรม ไม่สนข้อถกเถียงอะไรกันทั้งสิ้น อะไรที่ไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง เราจะถอดมันออก เหมือนช่างไม้ที่ฉลาด เลาะเอากิ่งก้านใบ เปลือก กระพี้ที่ใช้ไม่ได้ แล้วเลือกเอาแต่แก่นไปใช้งานแทน

และเพื่อจะได้ไม่คลางแคลงใจ ผมขออนุญาตสมมุติให้เลยว่า พระลิขิตนั้นเป็น "ของจริง" 

1. ในแง่พระวินัย

ตรง ๆ เลยนะครับ พระลิขิตไม่มีผลอะไรกับพระธัมมชโยทั้งนั้น

เหตุผลหรือครับ

~~~ เพราะไม่มีกระดาษหรือจดหมายจากพระรูปใด ที่ทำให้พระอีกรูปต้องอาบัติปาราชิกได้ครับ มันทำไม่ได้ และเป็นไปไม่ได้ด้วย (ในทางพระวินัย สมเด็จพระสังฆราช คือพระมหาเถระรูปหนึ่งในศาสนานี้ ยังต้องกราบไหว้พระภิกษุธรรมดาที่มีพรรษามากว่า ส่วนความเป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้เป็นธุระปกครองสงฆ์ในราชอาณาจักร)

หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไม่นาน  มีพราหมณ์คนหนึ่งถามพระอานนท์ว่า (ขอเล่าย่อ ๆ นะครับ)

พ. มีพระรูปใดที่มีธรรมทุกอย่างเหมือนพระพุทธเจ้าไหม

อา. ไม่มี

พ. มีพระรูปใดหรือไม่ ที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งเอาไว้ให้เป็นตัวแทนพระองค์

อา. ไม่มี

พ. มีพระรูปใดหรือไม่ ที่คณะสงฆ์ทั้งหลายแต่งตั้งว่า ให้ทำหน้าที่แทนพระศาสดา

อา. ไม่มี

พ. ในเมื่อไม่มี แล้วพระคุณเจ้าจะอาศัยอะไร สงฆ์จึงอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสามัคคีโดยธรรม

อา. อาศัยสิกขาบท (พระวินัย) ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ทุกวันอุโบสถจะนิมนต์พระรูปหนึ่งให้สวดปาติโมกข์ ขณะฟัง องค์ไหนมีอาบัติอยู่ ก็ให้แก้ไขตามธรรมที่พระองค์บัญญัติไว้

ในศาสนานี้ จึงไม่มีภิกษุรูปไหนจะสั่งให้รูปไหนต้องอาบัติปาราชิกได้ ถ้าพระรูปนั้นไม่ได้ปาราชิกจริง หรือถ้าปาราชิกจริง ต่อให้ไม่มีใครสั่งอะไร รูปนั้นก็ไม่ใช่พระอยู่แล้ว ยิ่งฝืนอยู่แบบพระต่อไป ก็ต้องรับผลกรรมที่ตัวเองทำไว้เอง

~~~ อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งสำคัญมาก คือ เป็นที่รู้กันว่า สมเด็จพระสังฆราช สังกัด "ธรรมยุติกนิกาย" ส่วนพระธัมมชโย สังกัด "มหานิกาย" นิกายทั้งสองนี้เป็น "นานาสังวาส" กันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2372 แล้วครับ

นานาสังวาส คือมีธรรมในการอยู่แตกต่างกัน 2 นิกายนี้จึงไม่ร่วมสังฆกรรมกัน เช่นไม่ลงโบสถ์ด้วยกัน ไม่บวชให้กัน ถือว่าเป็นคนละพวกกัน เหมือนมหายาน, เถรวาท, จีนนิกาย (มหายานของคนไทยเชื้อสายจีน), อนัมนิกาย (มหายานสืบมาจากเวียดนาม) ซึ่งต่างก็เป็นนานาสังวาสของกันและกัน

ดังนั้นเมื่อต่างนิกาย จึงไม่สามารถจะมาโจทกันได้ เหมือนประธานบริษัทหนึ่ง   อยู่ดี ๆ จะไปไล่หัวหน้าแผนกของอีกบริษัทหนึ่งไม่ได้นั่นเอง

พระวินัยจึงกำหนดว่า "ภิกษุนานาสังวาสจะคัดค้านในท่ามกลางสงฆ์ (ต่างนิกาย) ไม่ได้" คือค้านไปก็ไม่มีผลนั่นเอง

ความจริงในประเทศไทย แม้มหาเถรสมาคมจะมีทั้ง 2 นิกายร่วมมือกันทำงาน แต่ในแง่การปกครองก็แยกกัน คือต่างฝ่ายต่างดูแลสมาชิกของกันและกันไป ไม่ก้าวก่ายข้ามนิกายไปมา ซึ่งพระ 90% ประมาณ 300,000 รูป เป็นมหานิกาย อีก 10% ประมาณ 30,000 รูป เป็นธรรมยุติกนิกาย

~~~ นายอำนาจ บัวศิริ ยังเคยกล่าวถึงนิกายทั้งสองนี้ว่า "การที่ภิกษุลัทธินิกายหนึ่งกล่าวหาภิกษุอีกลัทธินิกายหนึ่งให้สาธารณชนทราบ แม้จะทำไปด้วยกุศลเจตนาเพียงใดก็ตาม แต่ก็ควรสำเหนียกให้ลึกซึ้ง ถึงมารยาทแห่งความเป็นนานาสังวาสของกันและกันด้วย

ในขณะเดียวกัน การกล่าวชื่นชมยินดีที่ภิกษุอีกลัทธินิกายหนึ่ง เข้ามากล่าวหาภิกษุในลัทธินิกายของตน ไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์อย่างไรก็ตาม ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเป็นทาสที่ไม่ยอมถูกปลดปล่อย..."

เมื่อคำนึงถึงพระธรรมวินัยที่ภิกษุทั้งหลายยกให้เป็นตัวแทนพระศาสดา พระลิขิตไม่ว่าจะมีข้อความอย่างไร ย่อมไม่ส่งผลอะไรต่อพระที่อยู่ต่างนิกายกัน พระธัมมชโยจึงไม่ต้องอาบัติตามที่ปู่หรือใครก็ตามยกเอาพระลิขิตมาอ้างใช้

2. ในแง่กฎ มส.

อย่างที่เคยบอกไว้ว่า "บ้านมีกฎบ้าน วัดก็มีกฎวัด" กรณีนี้ก็ต้องไปดูว่ากฎ มส.ให้ปฏิบัติอย่างไร 

อย่าลืมว่ามหาเถรสมาคมจะตัดสินอะไรให้มีผลทางกฎหมาย ต้องออกเป็นมติร่วมกันเท่านั้น จากนั้นจึงนำไปดำเนินการ ผมจึงแปลกใจไม่หาย ที่มติ มส.ในวันที่ 22 มี.ค. 2542 รับรองข้อเสนอของพระพรหมโมลี วันนั้นสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานในที่ประชุม (หรือถึงแม้ไม่ได้มา) ย่อมถือว่าทรงเห็นด้วยกับมตินั้น มติ มส.จึงผูกพันกับกรรมการ มส.ทุกองค์ ถ้ามาคัดค้านในภายหลัง ก็เท่ากับทำผิดพระธรรมวินัย การที่มีคนสงสัยในพระลิขิตจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ว่าทำไมเขาคิดว่าไม่น่าใช่พระดำริอย่างแน่นอน

นอกจากนั้น ด้วยความแตกฉานในธรรมวินัยของพระองค์ จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่จะตัดสินอะไรง่าย ๆ ตามเนื้อความที่ปรากฏในพระลิขิต  

ยกตัวอย่างง่าย ๆ สมมุติคุณเป็นประธานบริษัท วันหนึ่งมีคนมาฟ้องคุณว่า หัวหน้าแผนกคนหนึ่งยักยอกเงินบริษัทไป คุณฟังแล้วจะทำอย่างไรครับ

ผมเชื่อว่าคุณจะไม่ไล่หัวหน้าแผนกคนนั้นออกทันทีทันใด คุณคงจะตั้งกรรมการขึ้นมาสอบให้แน่ใจ ว่าเขายักยอกจริงหรือไม่ถูกไหมครับ เมื่อได้ผลการสอบที่ชัดเจนแล้ว คุณจึงจะตัดสินใจ ซึ่งก็ต้องให้หัวหน้าฝ่าย หรือใครที่รับผิดชอบโดยตรงพิจารณาเสนอมา

ก็เหมือนระบบราชการ ที่เมื่อมีข้อกล่าวหาอะไร ก็ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบก่อนในทำนองเดียวกัน

มหาเถรสมาคมก็เหมือนกัน พระสังฆราชเป็นเหมือนประธานบริษัท เมื่อเกิดปัญหาเรื่องวัดพระธรรมกาย พระองค์ก็ต้องปฏิบัติไปตามกฎ มส. คือให้เจ้าคณะปกครองลงไปจัดการ ซึ่งจะได้ผลตามแบบที่พระพรหมโมลีทำ อยู่ดี ๆ พระองค์จะตัดสินโดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์เลยจึงไม่น่าเป็นไปได้ 

ทีนี้สมมุติว่ามีการโจทมาถูกต้องตามธรรมวินัย คือผู้โจทอยู่นิกายเดียวกัน สิ่งที่ มส.ต้องทำต่อไป ก็คือขั้นตอนที่ให้พระพรหมโมลีจัดการ แล้วผลก็จะออกมาตามเดิม ว่าพระธัมมชโยไม่ผิดอะไร

ส่วนด้านกฎหมาย เป็นศาลทางโลก ไม่เกี่ยวกับ มส. จึงไม่ขออธิบายนะครับ

~~~ ผมจึงขอสรุปว่า แม้พระลิขิตจะเป็นของจริง แต่ผลก็ยังจะเป็นเหมือนเดิม ไม่ว่าจะตัดสินโดยพระธรรมวินัย หรือใช้กฎ มส. ก็ตาม

มติ มส. ในวันที่ 10 พ.ค. 2542 ที่มีสมเด็จเกี่ยว วัดสระเกศ เป็นประธาน สรุปว่า...

"มหาเถรสมาคมมีมติสนองพระดำริมาโดยตลอด แต่ให้ชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม"

จึงน่ายกย่องอย่างยิ่ง ผมถือว่าเป็นถ้อยคำของปราชญ์บัณฑิตอย่างแท้จริง สมกับเป็นพระมหาเถระผู้เป็นหลักให้กับสังฆมณฑล ได้รักษาพระเกียรติของสมเด็จพระสังฆราชไว้ ไม่ให้ใครฉุดพระองค์ลงไปแปดเปื้อนกับความเห็นผิดของตัวเอง

เพราะอะไร ?

ก็เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าพระลิขิตจริงหรือปลอม แต่อยู่ที่ว่า ถ้าจริงแล้วต้องดำเนินการอย่างไร ไม่จริงจะต้องทำอย่างไร ซึ่งมติยืนยันว่า ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม นั่นจึงเป็นทางออกที่ถูกต้องตามจริง

ดังนั้น ปู่เองควรเลิกเป็นลิงห้อยโหนพระลิขิตได้แล้ว

ยิ่งโหน ปู่ก็ยิ่งจมลงในโคลนลึกเข้าทุกที

นอกจากสกปรกแล้ว ก็ไม่มีอะไรดีหรอกปู่   เชื่อผมเถอะ !!!!


คมความคิด
4 เมษายน 2560



ผ่าหลวงปู่พุทธะอิสระ ตอนที่ 5 พระลิขิต ผ่าหลวงปู่พุทธะอิสระ  ตอนที่ 5 พระลิขิต Reviewed by สารธรรม on 19:40 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.