ธรรมยาตรา เดินฝ่าวิกฤต?


ธรรมยาตรา

เพื่อการฝึกพระแท้ รวมพลังชาวพุทธสู้วิกฤตวัดร้าง

ตลอดสี่สิบกว่าปีมานี้ นับตั้งแต่วันแรกที่เราขุดดินก้อนแรกสร้างวัดพระธรรมกายกัน
มา ทุกกิจกรรมที่วัดพระธรรมกายจัดขึ้น ล้วนเอาบุญเป็นตัวตั้งในการจัดงาน สิ่งใดที่ไม่ใช่บุญ เราไม่เอามาเป็นตัวตั้งในการทำงานอย่างเด็ดขาด

ขอให้ทุกท่านมั่นใจเถิดว่าทุกบุญที่เราทำ ทุกกิจกรรมที่เราสร้างนั้นไม่ผิดแผกไปจากร่องรอยเดิมของพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน 

แต่ทว่าในขณะนี้งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของวัดเรา ขยายออกไปในวงกว้าง ย่อมอาจมีผู้ไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดเกิดขึ้นบ้าง การถูกเข้าใจผิดก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา

เพราะก่อนที่เราจะเข้าวัด ก็เคยเข้าใจอะไรต่อมิอะไรผิดๆ มาบ้าง แถมยังวิพากษ์
วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา ดังนั้นรอบนี้เราจัดโครงการธุดงค์ธรรมชัยขึ้นมาแล้วกลายเป็นผู้ถูกเข้าใจผิดบ้าง ก็ถือว่าได้ใช้กรรมเก่าในชาตินี้แล้ว เราจึงไม่ควรถือโทษโกรธใคร

เพราะเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทุกเสียงนั้น ต้องถือว่าเกิดขึ้นจากผู้ที่หวังดีเป็นห่วงเป็นใยต่อพระพุทธศาสนาด้วยกัน

คนเข้าวัดต้องหนักแน่นในธรรม 
ในฐานะที่เราเป็นคนเข้าวัดปฏิบัติธรรม ไม่ว่ามีเรื่องใดมากระทบกระทั่งมีหลักปฏิบัติ
อยู่ว่า

“ทุกอย่างที่คิด ทุกสิ่งที่ทำ ทุกคำที่พูด จงถือหลักวิชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้
มั่น” 

นั่นคือถือควาถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ 

ดังนั้น เวลาที่มีปัญหากระทบกระทั่งกับใคร เราต้องเอาหลักวิชาเป็นตัวตั้ง อย่าเอา
อารมณ์เป็นตัวตั้ง ถ้าเราใช้อารมณ์กับใคร ถือว่าเสียศักดิ์ศรีของคนเข้าวัด

สำหรับโครงการเดินธุดงค์ธรรมชัยประจาปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ มีพระเดินธุดงค์
๑,๑๓๐ รูป ผ่าน ๗ จังหวัด เป็นระยะทาง ๔๘๕ กิโลเมตร ใช้เวลาทั้งหมด ๓๐ วัน จึง
เสร็จสิ้น

ในช่วงสามวันสุดท้ายที่เราเดินกลับวัดพระธรรมกายโดยผ่านกรุงเทพมหานครนี้เอง
ที่ทำให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่ลบ แง่บวกอย่างมากมาย ทำให้มีทั้ง
ผู้ทรงภูมิรู้ ผู้ที่ปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนาออกมาให้ความคิดเห็นกันมากมาย

โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ธุดงค์คืออะไร การเดินผ่านเมืองนี้เป็นการเดินธุดงค์หรือไม่? 

ธุดงค์คืออะไร 

ธุดงค์ คือ หลักการฝึกกำจัดกิเลสอย่างเข้มข้นของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๑๓ วิธี ด้วยกัน ได้แก่
                                                                                                 
หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับจีวร)
๑) ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร                                                          
๒) ถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร                                                            
๓) ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร 

หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับบิณฑบาต)
๔) ถือการบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร                                     
๕) ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร                                       
๖) ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร                                                  
๗) ถือการห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร

หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับเสนาสนะ)
๘) ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
๙) ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร                                                            
๑๐) ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร                                           
๑๑) ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร                                              
๑๒) ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดไว้ให้เป็นวัตร
๑๓) ถือการนั่งเป็นวัตร (ยืน เดิน นั่ง ไม่นอน)


ธุดงควัตรทั้ง ๑๓ วิธีนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า "ไม่ได้ทรงบัญญัติเป็นพระวินัย"

แต่ทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้ทำได้มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยถือเป็นความสมัครใจของพระภิกษุผู้ถือธุดงควัตรเอง โดยจะเลือกถือปฏิบัติเป็นวัตรเพียง ๑ ข้อ ๒ ข้อ ก็ได้ หรือจะถือทั้ง ๑๓ ข้อ ก็ได้ แล้วแต่ความสมัครใจ

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดของธุดงควัตรทั้ง ๑๓ วิธีนี้ สามารถศึกษาค้นคว้าได้จาก "คัมภีร์วิสุทธิมรรค" ซึ่งเป็นตำราเก่าแก่อายุพันกว่าปี มีการบันทึกรายละเอียดของธุดงค์แต่ละข้อไว้อย่างดีเยี่ยม

สำหรับพระภิกษุที่เข้าร่วมโครงการเดินธุดงค์ธรรมชัย ๑,๑๓๐ รูป นี้ ได้ตั้งใจถือธุดงควัตรอยู่ ๒ ข้อ คือ ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร และ ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดไว้ให้เป็นวัตร 


ธุดงค์ธรรมชัย คืนชีพกระแสพระธุดงค์กลับมาใหม่ 
การทำงานทุกงานในโลกนี้ก็เป็นธรรมดาที่จะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนที่
เห็นด้วยก็ชื่นชมนุโมทนา คนไม่เห็นด้วยก็โพนทะนา ติเตียน โครงการของเราก็มิ
อาจหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ได้เช่นกัน

 อันที่จริงแล้ว ก่อนที่เราจะจัดโครงการธุดงค์ธรรมชัยครั้งแรก (พุทธศักราช ๒๕๕๒) นั้น ต้องบอกว่าในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นเป็นสิบ ๆ ปี ไม่มีใครพูดถึงการเดินธุดงค์เลยราวกับว่าธุดงค์ไม่เคยมีมาก่อนในโลก  


จนกระทั่งแม้แต่ชาวพุทธที่ทันเห็นขบวนพระธุดงค์ในสมัยก่อน บางท่านยังเข้าใจผิดว่าการ เดินธุดงค์ได้ตายจากประเทศไทยไปหมดแล้ว

แต่หลังจากที่เราจัดโครงการธุดงค์ธรรมชัยขึ้นมา ความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์การเดินธุดงค์ในแง่มุมต่าง ๆ ก็ถูกเผยแผ่ออกมามากมาย ทำให้เราเองก็พลอยตกอยู่ในกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบตามมาอีกมากมาย 

สำหรับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นนี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ดี มิฉะนั้นแล้วเรื่องการ
เดินธุดงค์ในเมืองไทย ก็จะถูกลืมไปจนหมด ไม่มีการพลิกตำรับตารากลับมาศึกษากันใหม่ไม่มีการให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางเหมือนในขณะนี้

ดังนั้น หากจะว่าไปแล้ว โครงการธุดงค์ธรรมชัย ที่จัดขึ้นนี้ ก็มีส่วนอย่างมากที่ช่วยปลุกกระแสความสนใจเรื่องการปฏิบัติขัดเกลากิเลสอย่างเข้มข้น หรือการเดินธุดงค์ให้ฟื้นคืนชีพกลับมาใหม่ในประเทศไทยอีกครั้งอย่างกว้างขวาง จนเป็นที่กล่าวขานทั่วทั้งสังคมเลยทีเดียว

กลุ่มคนที่ห่วงใยพระพุทธศาสนา 
สำหรับในกรณีที่เราต้องตอบคำถามจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบนั้น เรา
ต้องทำใจให้หนักแน่นในธรรม อย่าใช้อารมณ์เป็นใหญ่ ทั้งนี้ เพราะผู้ที่วิพากษ์
วิจารณ์นั้น เราต้องถือว่าเป็นผู้ที่ห่วงใยในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับเรา ซึ่งอาจ
แบ่งได้สามกลุ่มใหญ่ คือ

กลุ่มที่ ๑ คนไม่เข้าใจ
กลุ่มที่ ๒ คนเข้าใจผิด
กลุ่มที่ ๓ คนจับผิด 

กลุ่มแรก เขาถามด้วยความไม่เข้าใจ เราก็อธิบายด้วยหลักวิชาให้เขาเข้าใจ
กลุ่มที่สอง เขาถามด้วยความเข้าใจผิด เราก็อาศัยหลักวิชาแก้ไขให้เข้าใจถูก
ส่วนกลุ่มที่สาม เขาถามด้วยความจับผิด ถ้าพิจารณาดูแล้ว เขาไม่ได้ต้องการเหตุผล ไม่ต้องการหลักวิชาอะไร ในสถานการณ์แบบนี้เราก็อย่าไปโกรธ อย่าไปต่อล้อต่อเถียงด้วย เพราะไม่เกิดประโยชน์ เรื่องบางอย่างต้องให้เวลากันถึงจะเกิดความเข้าใจ

ประการสำคัญก็คือ เราต้องถือว่าผู้ที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์เราอยู่นี้เป็น "ผู้ที่มีความห่วงใยในพระพุทธศาสนา" เราจึงไม่มีความจำเป็นต้องโกรธใคร 

เรามีหน้าที่เพียงอธิบาย ตามหลักวิชาที่คุณครูไม่ใหญ่ (หลวงพ่อธัมมชโย)  สอนไว้ คืออธิบายด้วยท่าทางที่สุภาพ ด้วยถ้อยคำที่น่าฟัง ด้วยใจที่นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ มีความชุ่มเย็นอยู่ภายใน

แต่ถ้าเราอธิบายจบแล้ว นอกจากเขาไม่เข้าใจ เขายังจับผิดเพิ่มอีกด้วย ก็ให้ยึดหลัก
วิชาที่ พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ สั่งไว้ว่า

"ไม่สู้ ไม่หนี ทำดีเรื่อยไป" นั่นคือ เราต้องปล่อยวาง ต้องวางอุเบกขาอย่าไปเสียเวลาทะเลาะกับใครแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำความดีของเราต่อไป

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก 
หนังสือธุดงค์ธรรมชัย โดย พระเผด็จ ทตฺตชีโว
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
ภาพดีๆ 072 https://photoofdays.blogspot.com/2018/02/25-2561.html
ธรรมยาตรา เดินฝ่าวิกฤต? ธรรมยาตรา เดินฝ่าวิกฤต? Reviewed by สารธรรม on 00:34 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.