วัดพระธรรมกาย จ้างคนมาวัดหรือเปล่า Quote เรื่องเล่าเข้าใจธรรม


ทำไมคนเข้าวัดนี้เยอะมาก  

สมัครใจมา หรือถูกว่าจ้าง ?


ถ้าจ้างได้นี่ดีเนาะ หลวงพี่อยากให้เรารวย ในระดับจ้างคนมาได้ทั้งโลก.!

สมมติจ้างคนละ 500 บาท วัดเราเคยรวมคนสัก 4 แสน เป็นเงิน 200 ล้าน ต้องใช้ค่าจ้างมหาศาล วัดจะไปหาเงินมาจากไหน ถ้ามีเงิน 200 ล้าน เอาไปทำอย่างอื่นดีกว่า.! 


คือวัดเราเริ่มต้นจากจุดที่มีคนไม่มากเท่าไหร่ มีศาลาที่จุคนได้ประมาณสัก 500 คน จากนั้นคน 500 คนที่เขามาปฏิบัติธรรมแล้วรู้สึกวัดนี้สอนดี เป็นวัดที่เข้ามาแล้วครอบครัวก็ดีมีความสุข ได้นั่งสมาธิ ได้ทำบุญ

พอถูกใจก็ไปชวนไปตาม เพื่อนๆ หมู่ญาติต่อ จากห้าร้อยก็ขยับไปเป็นหลักพัน หลักหมื่น หลักแสน ก็ใช้วิธีเดียวกันเพราะเราไม่ได้โฆษณาอะไร เพียงแต่เรา ไม่ได้ปล่อยไปตามยถากรรม

เรามีระบบบริหารจัดการจนกระทั่งเกิดความชำนาญ ในการที่จะรองรับคนจำนวนมาก เพื่อให้การมาของผู้คนได้รับความสะดวก

จากนั้นวัดก็ขยายพื้นที่ เริ่มมีสิ่งก่อสร้างเป็น ศาลามุงจาก ซึ่งเราใช้ยาวนานมากเป็นหลายสิบปี พยายามจะทำให้มันใช้งานได้ คุ้มค่าที่สุด ถูกที่สุด เร็วที่สุดด้วย

วัดนี้ไม่ใช่ปุ๊บปั๊บคนมาเป็นแสนเป็นล้านอย่างที่เห็นในปัจจุบัน มันเริ่มตั้งแต่เมื่อ 50 ปีที่แล้วนะ ใช้เวลา 50 ปี จึงทำให้วันนี้มีคนมาจำนวนขนาดนี้ 

แค่ชวนธรรมดาคนจะมา

เป็นหมื่น เป็นแสนจริงหรือ ?

การชวนของที่วัดมีการบริหารจัดการอยู่ด้วย เพราะว่าอย่าลืมว่าคนมาหลักร้อย หลักพัน  เราควบคุม (Control) ได้ แต่พอมันขยับไปมากเข้าๆ ก็จะต้องมีการแบ่งโซน (Section)

อย่างเช่นว่าในภาคอีสาน ใครควรจะเกี่ยวข้องด้วยบ้างในการช่วยประสานงานดูแลกันเป็นชุดๆ ไป เพราะฉะนั้นก็จะมีการแบ่งการชวนคน โดยอาศัยความคุ้นเคยไว้วางใจกันเป็นหลัก

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ได้

บ้านหลวงพี่อยู่ชลบุรี แต่หมู่ญาติอยู่สุโขทัย เราก็อยากให้หมู่ญาติเขาได้มาสัมผัสวัด เขาบอกว่าแล้วเขาจะมายังไงละ อ๋อ..มีคนที่เคยมาวัดที่เป็นคนสุโขทัยอยู่ ชื่อนั้น  ชื่อนี้ ให้โทรศัพท์คุยกันสิ


มาวัดแล้วจะได้อะไร ?

สิ่งที่เขาจะได้ไปแน่ๆ เลยคือ 2 เรื่องใหญ่ๆ

ที่วัดพระธรรมกายหลวงพ่อท่านเริ่มมาอย่างนี้ คือ เรื่องปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ ฝึกจิตเป็นหลักเลย แล้วก็ ฟังธรรม ตรงนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าจะได้ความกระจ่างในเรื่องคำสอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอเริ่มเข้าใจก็จะได้ลองทำ

หลวงพี่มาที่วัดปี พ.ศ. 2527 ตอนนั้นอายุพึ่งจะ 16 ปี พอมาถึงปุ๊บ..ก่อนกลับต้องช่วยกันขัดห้องน้ำ ซึ่งเราก็รู้สึกมันธรรมดามาก แต่พอมีคนมาสอนว่าจะทำยังไงให้สะอาด เราก็ โอ้โฮ้.. มีวิธีการอย่างนั้นเลยเหรอ กลายเป็นอะไรใหม่ๆ ในชีวิต ที่สามารถนำกลับไปใช้ได้จริงๆ ที่บ้านของเรา

เพราะฉะนั้นลักษณะแบบนี้ จึงทำให้หลายๆ คนที่มาวัด เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งตัวเอง ทั้งครอบครัว เปลี่ยนแล้วเขามีความสุข เขารู้สึกว่า วัด ตอบโจทย์เขาได้

การที่จะไปชวนคนอื่นต่อ จึงกลายเป็นเรื่องที่ง่ายมาก.!

ไม่จ้างจริงๆ หรือ ?

ไม่จ้าง.. หลวงพี่อยู่ที่วัดนี้ก็ไม่ได้ค่าจ้างอะไรจากใครเลยนะ


พระมีเงินเดือนไหม ?

พระไม่มีเงินเดือน ถ้าจะมีก็คือ นิตยภัต อย่างเช่นหลวงพ่อที่เป็นเจ้าอาวาส พระที่มีสมณศักดิ์ หรือพระประโยค ๙ ส่วนพระที่อยู่ในวัด  ปัจจัย ๔ ทุกสิ่งทุกอย่างวัดช่วยจัดหาให้ สามารถที่จะอยู่กันได้โดยไม่เดือดร้อนอะไร


ใช้กิจกรรมดึงคนเข้าวัด ?

กิจกรรม นั่งสมาธิ ฟังธรรม ที่วัดต้องมีเป็นหลักอยู่แล้ว ก็คือทุกๆ วันอาทิตย์ก็จะมีพิธีกรรมงานบุญ เดือนหนึ่งก็อย่างน้อย 4 อาทิตย์ ซึ่งเราไม่ได้ไปรอ 15 ค่ำ วันพระ ถึงจะมีกิจกรรมรวมสักครั้งหนึ่ง

ฝึกคนมาวัด ให้รักวัด

แล้วก็อาจจะมีเรื่อง การฝึกคน ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่แตกต่างอยู่พอสมควรทีเดียว คือ การฝึกให้คนที่มาวัดได้รับผิดชอบตัวเอง คุณเอาเงินมาสร้างวัด คุณคือเจ้าของวัดนี้ต้องช่วยรักษากันนะ จึงเกิดกิจกรรมเยอะแยะเลย เช่น กวาดพื้น ล้างห้องน้ำอะไรแบบนี้

อยากช่วยดูแลรักษา

จุดใหญ่อยู่ตรงที่ว่าเมื่อคนที่มาวัด ถูกฝึกแบบนี้ คุณภาพของจิตใจจะขยับขึ้น ตัวเองก็สังเกตได้ว่าชีวิตเปลี่ยนไป มีความสุขมากขึ้น รู้สึกว่าการมาวัดมันได้ประโยชน์มากกว่า พอความรู้สึกแบบนี้เกิดมากเข้าก็อยากที่จะไปชวนคนที่เขารัก ให้มาสัมผัสประสบการณ์ว่ามันดีกับตัวจริงๆ

พิสูจน์ได้ไหมว่าไม่ได้จ้าง ?

มันง่ายมากเลย ...

เอาไว้คราวหน้าเรามีงานบุญใหญ่นะ สมมติชวนคนมาสักแสนหนึ่ง ไปดักได้เลยถามใครก็ได้ในหนึ่งแสนนั้น ว่าได้เงินมาเท่าไหร่ แล้วได้มายังไง ? 

แล้วถ้ามีแหล่งบอกด้วย...หลวงพี่จะได้ให้ญาติโยมหลวงพี่ไปเอาเงินตรงนั้นบ้าง เขาจะได้สบาย.!



คลิกที่ภาพเพื่อชมวีดีโอ

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
Fbภาพดีๆ 072
เพจเรื่องเล่าเข้าใจธรรม
https://www.facebook.com/talkgetdham/

วัดพระธรรมกาย จ้างคนมาวัดหรือเปล่า Quote เรื่องเล่าเข้าใจธรรม วัดพระธรรมกาย จ้างคนมาวัดหรือเปล่า Quote เรื่องเล่าเข้าใจธรรม Reviewed by สารธรรม on 19:55 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.